หลาย ๆ คน อาจได้รับทราบนโยบายของผู้ว่าการท่านใหม่ (นายวิลาศ เฉลยสัตย์) ไปบ้างแล้ว จะเห็นว่าในมิติหนึ่งที่ท่านให้ความสำคัญคือ “การพัฒนาองค์กร” โดยเน้นประสิทธิผล 3 ด้านหลัก คือ ระบบงาน/กระบวนงาน โครงสร้างองค์กร และบุคลากร โดยใช้แนวทางการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ตามระบบประเมินผล “SE-AM” (State Enterprise Assessment Model)
เมื่อไตรมาส 3 ปีที่แล้ว ได้เล่าหัวข้อของ การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Planning : SP) ซึ่งเป็น Enabler ที่ 2 ของ Core Business Enabler ไปแล้ว ครั้งนี้ ขอเล่าในหัวข้อของ CG& Leadership หรือ การกำกับดูแลที่ดีและการนำองค์กร ซึ่งเป็น Enabler ที่ 1 บ้าง ผ่านหลักการที่แสดงความสัมพันธ์กัน
ดังรูป เราจะเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับ MEA แบบง่าย ๆ ตั้งแต่ ภาครัฐ/ผู้กำกับดูแล (รัฐบาล กระทรวง มหาดไทย กระทรวงการคลัง สคร.) ผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการ MEA มากำกับดูแล และนำพาให้ฝ่ายจัดการ (ฝ่ายบริหารและพนักงาน MEA) ปฏิบัติงานได้สำเร็จตามที่ผู้ถือหุ้นภาครัฐ (กระทรวงการคลัง) กำหนด และตอบสนองต่อความต้องการของ ผู้ถือหุ้นภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ครบถ้วนและมีประสิทธิผล แสดงว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีความต้องการที่อยากให้ MEA สนองตอบอย่างครบถ้วนและมีประสิทธิผลและ MEA ก็ต้องอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ดังนั้นความสำคัญของหัวข้อนี้ จึงเป็นเรื่องของการที่จะทำอย่างไรให้ตอบสนองกับบทบาทของภาครัฐ ทำอย่างไรจะให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ บอร์ดจะต้องทำหน้าที่และมีบทบาทอย่างไร ทั้งการกำหนดนโยบายในด้านต่าง ๆ การติดตาม การกำกับดูแล ให้มีผลการดำเนินงานที่ดีทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงิน และการประเมินผลฝ่ายบริหาร ขณะเดียวกัน บอร์ดก็ต้องประเมินและพัฒนาตนเอง เพื่อให้มีความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญ ที่สอดคล้องกับภารกิจของ MEA ด้วย
ในส่วนของ MEA ก็ต้องกำหนดโครงสร้างที่จะดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ อย่างชัดเจน และจัดทำแผนแม่บทหรือแผนการบริหารจัดการด้านนั้น ๆ รองรับ สิ่งที่ท้าทายคือ การหาความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและจัดทำแผนการที่ตอบสนองความต้องการได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนี้ มีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจของ MEA ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึง ต้องเปิดเผยข้อมูลผ่านรายงานประจำปี และ Website อย่างครบถ้วน ถูกต้อง ทันกาล และเชื่อถือได้ เช่น นโยบายการกำกับดูแลที่ดี แผนงานที่สำคัญ ข้อมูลโครงการลงทุนที่สำคัญ การจัดซื้อจัดจ้าง ฯลฯ
และสุดท้าย การดำเนินการไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม ต้องมีการเก็บข้อมูลจริง (ผลการดำเนินงาน) นำมาประเมินประสิทธิผล โดยเทียบกับเป้าหมาย หรือผลที่ผ่านมา หรือถ้ามีข้อมูลเทียบเคียง ก็ยิ่งดี ว่าเป็นอย่างไร พร้อมทบทวนแนวทางหรือแผนดำเนินการ และกำหนดค่าเป้าหมายที่เป็นการยกระดับขึ้นไป เพื่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
Comments