top of page
Writer's pictureทีมพิพิธภัณฑ์

การเดินทางของวัตถุพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทย



ในอนาคตอันใกล้พิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทยก็จะเปิดให้ชาว MEA ทุกคนเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์ในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งนอกจากนิทรรศการที่น่าตื่นตาตื่นใจภายในอาคารแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ “วัตถุพิพิธภัณฑ์ของจริง” ที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์การไฟฟ้าไทย ซึ่งฝ่ายสื่อสารองค์กรได้รับการบริจาควัตถุพิพิธภัณฑ์จากพนักงานและหน่วยงานต่าง ๆ วันนี้เราจะพาไปดูขั้นตอนวิธีการจัดทำทะเบียน และเรื่องราวของวัตถุพิพิธภัณฑ์ที่ชาว MEA ส่งมา ให้เห็นถึงกระบวนการอนุรักษ์วัตถุ ของโบราณขององค์กรที่มีเรื่องราวอันทรงคุณค่า รวมถึงเรื่องราวของวัตถุพิพิธภัณฑ์บางชิ้นที่มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์องค์กรมาฝากกันครับ


ขั้นตอนแรก ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดทำข้อมูลทะเบียนวัตถุพิพิธภัณฑ์ฯ จะทำการสำรวจวัตถุพิพิธภัณฑ์ และจัดเตรียมพื้นที่ อุปกรณ์สำหรับจัดทำทะเบียนวัตถุพิพิธภัณฑ์ฯ


ขั้นตอนที่สอง ผู้เชี่ยวชาญ จะจัดกลุ่มของวัตถุพิพิธภัณฑ์ตามประเภทของวัตถุนั้น เช่น มิเตอร์ประเภทต่าง ๆ ก็จะนำมาวางรวมกันเพื่อให้ง่ายต่อการแบ่งกลุ่มประเภทของวัตถุ


ขั้นตอนที่สาม ผู้เชี่ยวชาญ จะจัด Set Studio เตรียมถ่ายภาพตัวอย่างของวัตถุพิพิธภัณฑ์นั้น ๆ ก่อนที่จะทำการอนุรักษ์วัตถุด้วยการทำความสะอาดวัตถุพิพิธภัณฑ์ให้สะอาดเรียบร้อยครับ


ขั้นตอนที่สี่ จะเป็นการกำหนดหมายเลขของทะเบียนวัตถุพิพิธภัณฑ์ เพื่อใช้ในการสืบค้นไปแสดงในพิพิธภัณฑ์ หรือนิทรรศการที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวพิพิธภัณฑ์ฯ ในอนาคตครับ


วันนี้ผมมีเรื่องราวของวัตถุพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจ มาบอกเล่าประวัติศาสตร์การไฟฟ้าไทยที่พวกเราภาคภูมิใจกันครับ ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ “ป้ายรถราง” ป้ายสุดท้ายของประเทศไทยนั่นเองครับ




ป้ายรถรางนี้ ถือเป็นป้ายที่มีเรื่องราวที่สำคัญกับประวัติศาสตร์องค์กร ในด้านการทำกิจการรถรางไฟฟ้าในอดีต ซึ่งองค์กรของเราได้จัดพิธีปลดป้ายรถรางป้ายสุดท้ายของประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 ณ บริเวณเวิ้งนาครเขษม ถนนเยาวราช


ในอดีตกิจการรถรางของประเทศไทยได้เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2436 ซึ่งถือว่าเป็นรถรางไฟฟ้าแห่งแรกของทวีปเอเชีย โดยตอนนั้น บริษัท Short Electric Railway Company จากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ให้บริการจนหมดสัญญาสัมปทานเดินรถในปี พ.ศ. 2492 หลังจากนั้นรัฐบาลไทยได้ดำเนินกิจการต่อในนามการไฟฟ้ากรุงเทพ ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เปิดให้บริการรถรางเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2493 จำนวน 8 เส้นทาง ได้แก่ 1. สายบางซื่อ 2. สายสามเสน 3. สายบางคอแหลม 4. สายหัวลำโพง 5. สายปทุมวัน 6. สายสีลม 7. สายดุสิต และ 8. สายร่วมฤดี จนเกิดการควบรวมองค์กรระหว่างการไฟฟ้ากรุงเทพ และกองไฟฟ้าหลวงสามเสน ในปี พ.ศ. 2501 ทำให้การไฟฟ้านครหลวงได้บริหารกิจการรถรางต่อ แต่เนื่องจากกิจการดังกล่าวเกิดภาวะขาดทุน รถยนต์เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี พ.ศ. 2504 รัฐบาลจึงมีมติให้เลิกเดินรถราง โดย การไฟฟ้านครหลวงได้พิจารณาเลิกเดินรถรางทีละสาย เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนประชาชนและพนักงานรถราง โดยได้มีการยกเลิกรถรางสายสุดท้ายในปี พ.ศ. 2511




ปัจจุบันฝ่ายสื่อสารองค์กรได้จัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวการจัดทำพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทย รวมถึงแสดงวัตถุพิพิธภัณฑ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์รถรางไทย เช่น ป้ายรถรางป้ายสุดท้ายของจริง บัตรอนุญาตโดยสารรถรางของคนขับรถราง และวัตถุอื่น ๆ ที่บริเวณ Creative Zone ชั้น 1 อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวงสำนักงานใหญ่คลองเตย ชาว MEA ท่านใดที่เดินทางไปแถวนั้นอย่าลืมแวะเข้าไปดูวัตถุพิพิธภัณฑ์ของจริงได้นะครับ


นอกจากวัตถุพิพิธภัณฑ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับรถรางแล้ว ยังมีการนำวัตถุพิพิธภัณฑ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของการไฟฟ้าไทย อื่น ๆ อีกด้วย เช่น กิโลวัตต์มิเตอร์ (Kilo Wattmeter) หรือเครื่องวัดกำลังไฟฟ้าของจริง ซึ่งเป็นรุ่นที่มีการผลิตในประเทศอังกฤษในปี พ.ศ. 2512 โดยฝ่ายสื่อสารองค์กรจะจัดแสดงนิทรรศการถึงวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2565



หากเพื่อน ๆ พี่ ๆ พนักงานชาว MEA ท่านใดที่มีของเก่า ของโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และมีความเกี่ยวข้องกับองค์กรของเรา เช่น บิลค่าไฟฟ้าเก่า มิเตอร์ไฟฟ้าเก่า เครื่องใช้ไฟฟ้าในสมัยโบราณ อุปกรณ์เครื่องใช้ในสำนักงานเก่า เช่น นาฬิกาโบราณหรือเอกสารทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทยของพวกเราทุกคน เพียงช่วยส่งมาให้ ฝสอ. คัดเลือกเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุพิพิธภัณฑ์ และนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทย เพื่อร่วมกันส่งต่อเรื่องราวประวัติศาสตร์ด้านการไฟฟ้าให้กับคนรุ่นหลังได้ภาคภูมิใจต่อไปได้ที่อีเมล : csd.ccd@mea.or.th



แหล่งที่มา :

  • ข่าว MEA วันที่ 4 มี.ค. 62 กฟน. ปลดป้ายรถรางสุดท้ายของไทย ปิดตำนานขนส่งมวลชนระบบรางสายแรกแห่งสยาม https://www.mea.or.th/content/detail/87/4410

  • โครงการจัดทำทะเบียนวัตถุพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทยระยะที่ 1 (10 พฤศจิกายน – 9 ธันวาคม 2563)

316 views

Comments


bottom of page