สวัสดีผู้อ่านทุกท่านครับ กลับมาพบกับผมอีกครั้ง หลังจากที่ห่างหายจากการเขียนบทความไปนานพอสมควรนะครับ เริ่มต้นศักราชใหม่กับผู้นำท่านใหม่ของเรา นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง คนที่ 18 ผู้ที่จะนำ MEA ก้าวไปข้างหน้าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หากใครอยากรู้จักท่านหรืออยากรู้ทิศทางการบริหารงานต่อจากนี้ของ MEA ภายใต้การนำของท่าน สามารถเข้าไปรับชมการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ของท่านได้เลยนะครับ ผมเองเป็นอีกหนึ่งคนที่ได้ติดตามการให้สัมภาษณ์ของท่าน และเรื่องหนึ่งที่ท่านจะพูดถึงเสมอ คือ การพัฒนา “คน” ของ MEA ให้มีความรู้ ความสามารถ พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาท้าทาย MEA ในระยะเวลาอันใกล้นี้ และหากจะกล่าวถึงเรื่องของการเรียนรู้เพื่อพัฒนาในช่วงนี้ หลายท่านคงจะได้ยินคำว่า Lifelong Learning หรือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเราได้นำเสนอเนื้อหาไปบางส่วนในฉบับที่แล้ว การเรียนรู้ตลอดชีวิตนี่เอง ที่จะตอบโจทย์ของการพัฒนาให้ทันกับกระแสของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในปัจจุบัน
ทำไมต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ?
เมื่อโลกหมุนอยู่ทุกวันและเร็วขึ้นด้วยตัวเร่ง (Catalyst) ทั้ง Disruptive Technology รวมถึงสภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้หลายอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งความรู้ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นและมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เราไม่สามารถหยุดและรอองค์กรส่งให้เข้ารับการอบรมเพียงอย่างเดียวเหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะเมื่อถึงวันที่อบรมเสร็จ ความรู้ที่เราได้มาอาจจะเก่าไปไม่สามารถนำไปใช้งานได้แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดจึงเป็นการที่พนักงานทุกคนได้เรียนรู้ด้วยตนเองในทุก ๆ วัน ตลอดเวลา
เริ่มต้นการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต
เราทุกคนสามารถเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นผู้พร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ ด้วยการพัฒนาเพื่อเพิ่มลักษณะสำคัญ 4 ประการ ดังนี้
Growth Mindset (กรอบแนวคิดแบบเติบโต) - กรอบแนวคิดแบบนี้เชื่อว่าคนทุกคนสามารถเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้นได้อยู่เสมอ และทุกครั้งที่ล้มเหลวหรือเจอปัญหาจะมองว่าเป็นโอกาสให้ได้พัฒนาตนเอง ดังนั้นคนที่มี Mindset แบบนี้ จึงมีความสุขและสนุกกับการได้เรียนรู้ในทุก ๆ สิ่งที่ได้ทำในทุกวัน
Active Learning (การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ) - การเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การเรียนรู้ที่ได้จากการลงมือทำจริง ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงและประยุกต์ความรู้ที่เพิ่งได้รับมากับความรู้ที่มีในอดีตให้เกิดเป็นผลลัพธ์ที่แท้จริง ความรู้ที่เกิดขึ้นจึงได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้จริงหรือไม่ เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างความรู้ใหม่ อีกทั้งความรู้ที่เกิดขึ้นยังจะคงอยู่กับเรานานกว่าการเข้ารับการอบรมแล้วไม่ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์
Self-Directed Learning (สร้างการเรียนรู้ในรูปแบบของตนเอง) - การเรียนรู้มีหลากหลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบก็มีเป้าหมายและใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราต้องเลือกวิธีการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับความพร้อมของเราด้วย เช่น บางคนชอบอ่านหนังสือ เรียนออนไลน์ หรือค้นหาข้อมูลจากสื่อออนไลน์ ก็ต้องมาพิจารณาว่าเราพร้อมและชอบแบบไหน และวิธีนั้นสามารถพาเราไปสู่เป้าหมายของการเรียนรู้ได้หรือไม่
Learning Motivation (สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้) - การเรียนรู้ตลอดชีวิตนี้ จะมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งไม่มีปัจจัยภายนอกหรือกรอบใด ๆ มาปลุกเร้าได้ ดังนั้นผู้เรียนจะต้องกระตุ้นและจูงใจ รวมทั้งสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ให้แก่ตนเอง เช่น การไปอยู่ท่ามกลางคนเก่งก็เป็นการกระตุ้นให้ตัวเองต้องพัฒนาได้เป็นอย่างดี อีกทั้งโลกของความรู้ในปัจจุบันได้เปิดกว้างให้กับทุกคนได้เข้าถึงง่ายขึ้น จึงขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้แก่ตนเองอย่างไร
รูปแบบการเรียนรู้ในอนาคต
การเรียนรู้ในโลกปัจจุบันกำลังเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก รูปแบบการเรียนรู้จะไม่ใช่แค่อยู่ในห้องเรียน หรือห้องอบรมอีกต่อไป แต่จะเป็นการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) มากขึ้น นั่นคือ การอบรมในห้องควบคู่ไปกับการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันมีแพลตฟอร์มให้ความรู้อยู่มากมาย เช่น SkillLane, SEAC, Thai MOOC หรือ Khan Academy ฯลฯ รวมถึงการเรียนรู้ผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น Google, YouTube, Twitter และ TikTok ซึ่งมีข้อมูลอยู่มากมายในรูปแบบต่างๆ ให้เราได้เลือกเรียนรู้ได้อย่างง่ายดายเพียงปลายนิ้ว รวมทั้งสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบคลิปวิดีโอสั้น ๆ (Micro Learning) ก็กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะใช้เวลาเรียนน้อยและตรงตามเป้าหมายของผู้เรียนที่ต้องการ
ในส่วนของฝ่ายฝึกอบรมเองมีการเตรียมพร้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับพนักงานทั้งในเรื่องของหลักสูตร e-Learning ระบบห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-Library) หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) เพื่อให้พนักงานสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากที่ใดก็ได้ รวมถึงห้องสมุดสุดล้ำที่ MEA สำนักงานเพลินจิต ซึ่งใกล้จะแล้วเสร็จ และ KM Platform ซึ่งมีองค์ความรู้ที่น่าสนใจมากมายถูกจัดเก็บอยู่ โดยขณะนี้ ฝอร. ร่วมกับ สายงาน รผส. กำลังพัฒนาระบบให้สามารถใช้งานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนในปีนี้ ฝอร. จะมีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองให้กับพนักงานได้ร่วมกิจกรรมตลอดทั้งปี
ดังนั้น...เพื่อให้ MEA มีความพร้อมสำหรับอนาคตที่ท้าทาย เรื่องของการพัฒนาคนจึงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป เราทุกคนต้องเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองในการยกระดับความรู้และทักษะที่มีอยู่ตลอดเวลา โดยองค์กรคอยสนับสนุนและส่งเสริมในส่วนที่จำเป็น เพราะการปรับองค์กรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเข้ามาอาจจะหมายถึงทางรอดของพวกเราชาว MEA
Comments