top of page
  • Writer's picturePrakai Team

มุ่งสู่อนาคตที่เจิดจ้า กับการปลดล็อก พ.ร.บ. MEA พร้อมเติบโตด้วยการสร้างธุรกิจใหม่



ลุ้นกันมาพักใหญ่กับการขอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 ที่ใช้บังคับมานาน และมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ในที่สุดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ครม.ก็มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง ฉบับแก้ไข แม้ยังต้องเข้าสู่กระบวนการอีกมาก แต่ก็นับเป็นแสงสว่างแห่งความหวัง จากนี้ หาก พ.ร.บ. ฉบับใหม่มีการประกาศใช้ MEA จะเปลี่ยนไปอย่างไร และต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไรบ้าง นางสาวภัทรา สุวรรณเดช ผู้ช่วยผู้ว่าการ พร้อมเผยรายละเอียดให้ทราบแล้ว


จุดเปลี่ยนองค์กร ขยายขอบเขตการทำงานให้กว้างขึ้น

กว่า 60 ปีที่ MEA ดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.การไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 ซึ่งต้องยอมรับว่ามีหลายส่วนล้าหลังและฉุดรั้งให้ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ในหลายแง่มุม เพื่อให้องค์กรก้าวทันยุคสมัยและร่วมขับเคลื่อนประเทศให้ไปไกลกว่านี้ จึงมีการยื่นเรื่องขอแก้ไข พ.ร.บ. โดยมีสาระสำคัญคือเพิ่มวัตถุประสงค์ขององค์กร จากเดิมที่กำหนดเฉพาะ “จัดให้ได้มา และ จำหน่ายพลังงานไฟฟ้า” เป็น “ผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง จำหน่ายพลังงานไฟฟ้า และประกอบกิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้า” เพื่อให้มีอำนาจดำเนินการผลิตพลังงานไฟฟ้า ณ จุดใช้งานของผู้ใช้ไฟฟ้า รวมถึงมีอำนาจจัดส่งและประกอบกิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้า ตลอดจนสามารถนำทรัพยากรที่มีไปดำเนินธุรกิจอื่นเพื่อเสริมสร้างให้เกิดการพัฒนาประเทศ โดยกำหนดให้ MEA มีอำนาจดำเนินการตามวัตถุประสงค์ได้ทั้งในและนอกประเทศ



นอกจากนี้ยังกำหนดพื้นที่จำหน่ายพลังงานไฟฟ้าและประกอบกิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ MEA ให้ชัดเจนขึ้น โดยระบุเขตพื้นที่เป็น เขตท้องที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ และพื้นที่ที่ดำเนินการอยู่แล้ว ณ วันจัดตั้งการไฟฟ้านครหลวง สำหรับส่วนปฏิบัติการ ได้แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของพนักงานในการสร้างและบำรุงรักษาระบบจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งจากเดิมต้องมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย เปลี่ยนเป็นให้ MEA ชดใช้ค่าทดแทนแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์เท่าที่เสียหายโดยตรง และที่สำคัญมากอีกประเด็นหนึ่งคือ แก้ไขเพิ่มเติมวงเงินกู้ยืมเพื่อการลงทุนที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ซึ่งเดิมระบุไว้ที่ “จำนวนเงินเกินคราวละ 40 ล้านบาท” เป็น “จำนวนเงินเกินคราวละ 100 ล้านบาท”


ด้วยวัตถุประสงค์ข้างต้น เห็นได้ว่าการขอแก้ไข พ.ร.บ. เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่ออนาคตของ MEA เป็นอย่างมาก เราจึงร่วมกันผลักดันมานาน โดยความร่วมมือของ ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายเศรษฐกิจพลังไฟฟ้า ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ และอีกหลายฝ่าย จนสามารถผ่านด่าน ครม. มาได้ในวันนี้ “กว่าจะแก้ไข พ.ร.บ.ได้ค่อนข้างใช้เวลา ต้องผ่านทั้งหมดประมาณ 11 ขั้นตอน ตอนนี้ผ่าน ครม. ก็นับว่าเรามาได้ครึ่งทางแล้ว จากนี้ต้องส่งเข้ากฤษฎีกา เพื่อตรวจสอบร่าง พ.ร.บ. จากนั้นต้องเข้าสภานิติบัญญัติ และผ่านการพิจารณาอีก 2-3 วาระ ก่อนการลงพระปรมาภิไธย คงใช้เวลาอีกระยะใหญ่พอสมควร แต่ก็นับว่าเข้าใกล้ความเป็นจริงแล้ว” ผู้ช่วยผู้ว่าการ เล่าถึงความคืบหน้าของความหวัง



จากผู้จำหน่าย สู่ผู้ผลิต รุกธุรกิจต้นน้ำเพื่อความยั่งยืน

การแก้ไข พ.ร.บ.การไฟฟ้านครหลวงในครั้งนี้ สาระสำคัญอันดับแรกคือการเพิ่มวัตถุประสงค์ขององค์กรให้สามารถทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ ซึ่งหลายฝ่ายอาจจะสงสัยว่า จะเกิดการทับซ้อนในการทำงานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือไม่ ประเด็นนี้ ผู้ช่วยผู้ว่าการ อธิบายว่า “ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนไป ในด้านพลังงานมีทั้งเรื่องของโซลาร์และ Energy Storage จัดเก็บพลังงานและนำไปขาย ถ้าเราไม่ปรับตัว อาจจะตอบสนองการใช้งานหรือความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าได้ไม่ดีพอ ดังนั้น ประเด็นในเรื่องของการผลิต เราจึงเน้นไปที่การผลิต ณ จุดใช้งาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของโซลาร์ โรงไฟฟ้าขยะ พลังงานลม หรืออาจจะเป็น Co-generation ที่มีการใช้ความร้อนร่วม โดยมองถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เพราะหากทำได้ ประชาชนจะได้ระบบไฟฟ้าที่มั่นคง ปลอดภัย ณ จุดที่ใช้งาน อีกทั้งเทคโนโลยีเหล่านี้ ยังช่วยลดการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตระบบไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟลดลงด้วย และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายสังคมคาร์บอนต่ำ หรือ Carbon Neutrality ขณะเดียวกันในมุมของ MEA เอง การผลิต ณ จุดใช้งาน โดยไม่ต้องส่งมาจากโรงไฟฟ้าไกล ๆ ช่วยลดปัญหาเรื่องการสูญเสียพลังงานระหว่างทาง ฉะนั้นนอกจากจะไม่ทับซ้อนในการทำงานแล้ว หากทำได้จะนับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก”



ไม่เพียงแค่นั้น การแก้ไข พ.ร.บ.ยังเปิดโอกาสให้ MEA สามารถนำทรัพยากรที่มีไปดำเนินธุรกิจอื่นได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้สิ่งที่มีอยู่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น นอกจากจะก่อประโยชน์กับ MEA เอง ยังเป็นการนำเครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยี และองค์ความรู้ที่มี ไปสร้างประโยชน์แก่ภาคส่วนอื่นด้วย


“ยกตัวอย่าง ที่ผ่านมาเราลงทุนในระบบ ICT ค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นระบบ SCADA ระบบ GIS สายไฟเบอร์แบบปิด ซึ่งเมื่อก่อนมีอย่างไรก็ใช้อย่างนั้น เหลือก็แบ่งให้คนอื่นใช้ แต่ก็มักจะถูกตั้งคำถามว่าสิ่งเหล่านี้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้จริงไหม ใช้ได้เต็มศักยภาพหรือเปล่า หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ เราสามารถลงทุนในเทคโนโลยีเหล่านี้เพิ่ม เพื่อพัฒนาและใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ตามที่ผู้ใช้ต้องการ เช่น สายไฟเบอร์ที่เดิมอาจจะไม่มีอุปกรณ์สื่อสารหัวท้ายที่เหมาะสม ถ้าแก้ พ.ร.บ.ได้ เราสามารถลงทุนเพิ่ม เพื่อให้ได้ประโยชน์กับประชาชนมากขึ้น ผู้เช่าก็ได้ประโยชน์ขึ้น นับเป็นการใช้สินทรัพย์ที่คุ้มค่า ซึ่งสินทรัพย์ในที่นี้หมายรวมถึงอาคาร สถานที่ คน อุปกรณ์ไฟฟ้า และอื่น ๆ ด้วย” ผู้ช่วยผู้ว่าการยกตัวอย่างให้เห็นภาพของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าจะช่วยให้ MEA ขยายไปสู่การดำเนินธุรกิจอื่นได้ในอนาคต



บุกตลาดต่างประเทศ ความฝันและความหวังของ MEA

ในพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 ตีกรอบให้ MEA ดำเนินการได้เฉพาะในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ การทำงานนอกพื้นที่รวมถึงนอกประเทศเป็นข้อห้ามที่ทำไม่ได้โดยเด็ดขาด ดังนั้นก่อนหน้านี้หากมีงานที่เกี่ยวเนื่องกับต่างประเทศ จึงต้องใช้วิธีรับงานกลับมาทำในประเทศ เช่น งานที่ปรึกษา งานอบรมต่าง ๆ หากแก้ไข พ.ร.บ.ได้สำเร็จ จะเป็นการปลดล็อกให้สามารถบุกตลาดต่างประเทศได้ ภายใต้ขอบเขตวัตถุประสงค์หลัก คือ เรื่องของระบบจำหน่ายและระบบผลิต “นอกจากตลาดต่างประเทศที่เราอยากดำเนินการด้านธุรกิจ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ใน พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขนี้ MEA ยังสามารถดำเนินการในพื้นที่อื่น ๆ ที่เป็นเขตพิเศษ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งถ้าสถานการณ์อำนวยก็เข้าไปดำเนินการทางด้านกิจการไฟฟ้าได้ นั่นหมายความว่า เราจะขยายพื้นที่มากขึ้น และมีโอกาสที่จะมีลูกค้ามากขึ้น” ผู้ช่วยผู้ว่าการ ให้รายละเอียดเพิ่มเติม


นอกจากนี้อีกหนึ่งด้านที่จะก่อประโยชน์แก่องค์กรคือ การแก้ไขวัตถุประสงค์ให้สามารถเป็นตัวแทนจำหน่ายได้ จากที่ผ่านมาจะเห็นว่า MEA ไม่เป็นตัวแทนจำหน่ายใด ๆ เลย แม้จะมีศักยภาพในการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบไฟฟ้าก็ตาม นั่นเพราะ พ.ร.บ.ฉบับเดิมไม่อนุญาตให้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าใดทั้งสิ้น ซึ่งหากฉบับแก้ไขผ่านมติต่าง ๆ แล้ว MEA จะมีโอกาสในการสร้างรายได้จากธุรกิจนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีกระบวนการที่ได้มาตรฐานในการพิจารณา เพราะในฐานะหน่วยงานของรัฐ การเป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้ามีทั้งข้อดีและข้อเสียที่พึงระวัง



ลดขั้นตอน เพิ่มความคล่องตัว แก้ปัญหาได้ทันที

พระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวงฉบับแก้ไขนี้ มีหลายส่วนที่จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงานให้กับ MEA เรื่องแรกคือกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของพนักงานในการสร้างและบำรุงรักษาระบบจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งจากเดิมต้องมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย ผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อนและมีความล่าช้า เปลี่ยนเป็นให้ MEA เจรจาและชดใช้ค่าทดแทนแก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์เท่าที่เสียหายโดยตรงได้เลย เพื่อลดขั้นตอนลง และสามารถแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น


และอีกส่วนหนึ่งคือ เรื่องของวงเงินกู้ยืมเพื่อการลงทุน “พ.ร.บ.ฉบับเดิมระบุไว้ว่าหากจำนวนเงินที่กู้ยืมเกินคราวละ 40 ล้านบาท ต้องผ่านมติเห็นชอบจาก ครม. ก่อน แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งค่าเงินที่เปลี่ยนไป โครงการการลงทุนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมถึงความเข้มข้นในการแข่งขันที่มากขึ้น เราจึงแก้ไขจำนวนเงินให้เป็นคราวละเกิน 100 ล้านบาท เพื่อให้ MEA สามารถตัดสินใจทำธุรกิจหรือโครงการต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อการแข่งขัน และมีอิสระในการบริหารจัดการในธุรกิจมากขึ้น” เรียกได้ว่า พ.ร.บ.ฉบับปรับปรุงนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้ MEA ทำงานและแข่งขันได้อย่าง

มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม



ประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน คน MEA และองค์กร

“ถ้า พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านได้จริง ๆ ประชาชนจะได้ระบบไฟฟ้าที่มั่นคง เชื่อถือได้ และดีขึ้นทุกด้าน การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานก็จะลดลง ซึ่งอาจจะส่งผลถึงโครงสร้างของอัตราค่าไฟ อีกทั้งการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำจะช่วยให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น และที่สำคัญ จะเกิดโครงสร้างอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของระบบไฟฟ้า ทำให้เศรษฐกิจในชุมชนนั้น ๆ ดีขึ้น เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้คนท้องถิ่น เป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจไปในตัว” ผู้ช่วยผู้ว่าการ เผยถึงผลที่จะเกิดขึ้น หาก พ.ร.บ. การไฟฟ้านครหลวงฉบับแก้ไขถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ


ในมุมของคน MEA แน่นอนว่าจะมีโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น เพราะ พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขเปิดกว้างให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมพลังงานได้ ภายใต้การแข่งขันที่เป็นธรรม ส่วนผลกระทบที่บางคนอาจมองว่าจะเป็นการเปิดช่องให้ MEA เข้าไปแข่งขันแย่งตลาดการผลิตพลังงานกับประชาชนหรือไม่นั้น ผู้ช่วยผู้ว่าการ ให้ข้อมูลว่า เรื่องของการผลิตไฟฟ้ามีแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) รองรับ ซึ่งกำหนดปริมาณการผลิตในแต่ละแบบไว้อยู่แล้ว ฉะนั้นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก ในทางตรงข้าม หาก MEA ขยับเข้าสู่ธุรกิจการผลิตพลังงานทดแทนที่ต้นทุนต่ำ จะทำให้ประชาชนในพื้นที่ใช้ไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง



เตรียมพร้อมสำหรับโอกาสในอนาคต

แม้ว่าระยะทางยังอีกยาวไกล การประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขจะยังต้องรออีกพักใหญ่ แต่ MEA ก็เตรียมความพร้อมเพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้าให้เร็วที่สุดแล้ว “ด้านธุรกิจเรามีการเตรียมพร้อมมาตลอด ถ้าสังเกตจะเห็นว่าบริษัทลูกอย่าง MEAei สามารถทำธุรกิจด้านพลังงานทดแทนได้ แม้กระทั่ง ฝธค. เดิม ก็มีกองพลังงาน ทำเรื่องของโซลาร์เป็นหลัก ฝพธ. ก็ศึกษาเรื่องของธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะ แต่ทำได้อย่างมีข้อจำกัด ซึ่งหาก พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขนี้ประกาศใช้อย่างชัดเจน เราจะสามารถทำได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นความเข้มข้นในเรื่องนี้ก็จะมากขึ้น จากที่เคยเป็นแค่ผู้ให้เช่าแผงโซลาร์และอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า ในอนาคตเราอาจจะผันตัวเองมาลุยเรื่องการผลิตอย่างเต็มที่ และสามารถป้อนงานให้กับ MEAei ได้มากขึ้้น”


ผู้ช่วยผู้ว่าการ แจกแจงถึงความพร้อมในการรองรับโอกาสที่กำลังจะเข้ามา ซึ่งเมื่อวันนั้นมาถึง สิ่งที่ MEA จะต้องปรับเปลี่ยนคือข้อบังคับและกระบวนงานต่าง ๆ ทั้งเรื่องงบประมาณ โครงสร้างองค์กร ตลอดจนกำลังคน ที่อาจจะต้องมีวิศวกรสาขาอื่น นักเศรษฐศาสตร์ นักการตลาด หรือแม้แต่นักการเงินเพิ่มเติม เพื่อตอบรับธุรกิจที่จะขยายตัวมากขึ้น รวมถึงการ Disrupt ต่าง ๆ



ในฐานะผู้ช่วยผู้ว่าการ ที่กำกับดูแลด้านนี้ ฝากถึงพนักงาน MEA ทุกคนว่า “เรื่องของ Mindset สำคัญมาก หนึ่ง เราต้องเชื่อก่อนว่าทุกอย่างทำได้ แม้กระทั่งการตั้งบริษัทหรือการแก้ พ.ร.บ. สอง ภายใต้สถานการณ์ที่มีการ Disrupt เยอะ การแข่งขันจะสูงมาก ดังนั้นเราต้องเตรียมรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นให้ได้ ด้วยการ Re-Skill และ Up-Skill อยู่เสมอ อย่างในวันข้างหน้า หากเราเริ่มไปยังธุรกิจต้นน้ำในเรื่องของพลังงานทดแทน ชาว MEA ก็ต้องเปลี่ยน Mindset ว่า เราอาจจะไม่ได้ลงทุน ไม่ได้สร้างเอง แต่ต้องหาพันธมิตรให้เร็วขึ้น มองเชิงธุรกิจ เรื่องของการเจรจาต่อรอง เรื่องของการใช้ประโยชน์ร่วมกันมากขึ้น ฉะนั้น Soft Skill ต้องมี อ่านข้อมูลความรู้ให้เยอะ เพื่อนำมาต่อยอดในการทำงาน ซึ่งทุกสิ่งอย่างที่เราทำ จะก่อประโยชน์ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า MEA รวมถึงตัวเราเอง”


การประกาศใช้ พระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวงฉบับแก้ไข คือความหวังที่เราตั้งตารอ แต่ก่อนจะถึงวันนั้น การเตรียมพร้อมเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดคือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ หากทุกคนพัฒนาตัวเองเพื่อให้ทันต่อโอกาสที่จะเข้ามาอยู่เสมอ เชื่อว่า MEA จะเดินไปได้เร็วและไกลกว่าเดิมแน่นอน

257 views

Comments


bottom of page