top of page
Writer's pictureน.ส.ณัฐพร จิตรนอก

ลูกจ้าง MEA สมาชิกใหม่เสริมทัพความเจิดจ้า พร้อมรับมือความท้าทายแห่งอนาคต



เนื่องจากเพื่อน ๆ พนักงานมีข้อสงสัยถามไถ่กันมาว่าทำไมเมื่อปลายปี 2564 ในองค์กรของเราจึงมีลูกจ้าง MEA เพราะที่ผ่านมาเราคุ้นชินกับคำว่า “พนักงาน MEA” กับ “การจ้างเหมาบริการ (Outsource)” ซึ่งเป็นลักษณะการจ้างงานที่ต่างกัน และด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน รวมถึงความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้การดำเนินธุรกิจอาจกลายเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง (Red Ocean) เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและฉับพลัน (Disruption) ในหลากหลายด้าน เช่น การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาด หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้า MEA จากเดิมเป็นผู้บริโภค (Consumer) อย่างเดียว สู่การเป็นผู้ที่สามารถผลิตและซื้อขายไฟฟ้า (Prosumer) ได้ ดังนั้น การปรับเปลี่ยน หรือคิดค้นกลยุทธ์ใหม่ ๆ จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้องค์กร MEA ก้าวไปข้างหน้า ได้อย่างยั่งยืน และกลยุทธ์หนึ่งในการบริหารงานที่ MEA นำมาใช้ คือ การจ้าง “ลูกจ้าง” ซึ่งเป็นเสมือนโซ่ข้อกลางที่ช่วยประสานความสมดุลการทำงานระหว่างพนักงาน MEA กับ Outsource



ลูกจ้าง MEA นั้น จะได้รับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ นอกเหนือจากค่าจ้างเป็นไปตาม พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ ซึ่งเป็นการเสริมแรงจูงใจในการทำงาน ทำให้ลูกจ้างมีความมั่นคง รู้สึกพึงพอใจกับการทำงาน และผูกพันต่อองค์กร หรืออาจกล่าวได้ว่าการสมัครมาเป็นลูกจ้าง MEA จะสร้างแรงจูงใจในการทำงาน นอกจากนี้ MEA ยังมองว่าการมีลูกจ้างจะทำให้การทำงาน มีความต่อเนื่องและลื่นไหลมากขึ้น และลดปัญหาอัตราการลาออก (Turnover rate) ได้ รวมถึง ยังเข้ามาช่วยสนับสนุน ประสานการทำงานของพนักงาน MEA ให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น




โดยเดือนธันวาคม 2564 แม้ว่าที่ผ่านมา MEA ต้องเผชิญปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคที่จะต้องชะลอการสรรหาลูกจ้าง เพราะ MEA ได้มีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่าง ดี ทั้งในเรื่องของสิทธิประโยชน์ ระบบงานเพื่อรองรับลูกจ้าง การอบรม สอนงาน และให้คำแนะนำในเรื่องต่าง ๆ จนทำให้ MEA สามารถประกาศรับสมัครลูกจ้างได้ทั้งหมด 4 ตำแหน่ง ได้แก่ ลูกจ้างธุรการ ลูกจ้างพัสดุ ลูกจ้างจัดหาพัสดุ และลูกจ้างใช้เครื่องมือกล โดยสังกัดอยู่หน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 102 อัตรา


ทั้งนี้ การไฟฟ้านครหลวง ได้เล็งเห็นความสำคัญของการเพิ่มศักยภาพให้กับลูกจ้าง โดยมีการสอนงานแบบ On The Job Training และ Coaching โดยหัวหน้างาน ในอนาคตอาจมีการจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของลูกจ้าง MEA ให้มีองค์ความรู้ ทักษะ และความสามารถเพิ่มขึ้น ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การอบรมลูกจ้างใช้เครื่องมือกลตามหลักสูตรที่กฎหมายกำหนด หรือหลักสูตรอื่น ๆ เช่น การขับรถยก Forklift อย่างถูกวิธีและปลอดภัย การใช้เครื่องมือกลด้วยความปลอดภัย การปฏิบัติงานบนรถกระเช้า เป็นต้น เพื่อให้ลูกจ้างเข้าใจการขับยานพาหนะและเครื่องมือกลอย่างถูกวิธีและปลอดภัย ซึ่งจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุจากการปฏิบัติงานและสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุได้




จากเรื่องเล่าเกี่ยวกับลูกจ้าง MEA มาทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นว่า MEA พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจาก Disruption ต่าง ๆ โดยเริ่มจากมีการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในมิติใหม่ ด้วยการจ้างงานรูปแบบใหม่อย่าง “ลูกจ้าง MEA” ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอีกก้าวที่สำคัญของ MEA


ท้ายสุดนี้ขอฝากลูกจ้างน้องใหม่เข้าเป็นสมาชิกครอบครัว MEA ด้วยนะคะ


43 views

Kommentare


bottom of page