กว่า 30 ปีในรั้ว MEA ที่เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง ในที่สุดก็มาถึงวันที่คุณวิลาศ เฉลยสัตย์ ได้ก้าวขึ้นสู่ฐานะหัวเรือใหญ่ ในตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA คนที่ 18 หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ท่ามกลางความยินดีของเพื่อนพ้องน้องพี่ครอบครัว MEA ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมานาน
จากเด็กต่างจังหวัด สู่วิศวกรไฟฟ้า
อาชีพที่รักและผูกพัน
ย้อนไปเมื่อครั้งยังเล็ก คงไม่มีใครคาดคิดว่าเด็กชายวิลาศ ผู้เกิดและเติบโตมาในครอบครัวชาวนาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะก้าวมาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญขององค์กรระดับประเทศ เพราะเขาชื่นชอบทางช่างและรักงานประดิษฐ์ ตามรอยเท้าผู้เป็นพ่อซึ่งยึดอาชีพช่างทำบ้านทรงไทยในสมัยนั้น ก่อนจะรู้ตัวว่าถนัดคำนวณ เก่งคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ เมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาในโรงเรียนใกล้บ้านที่จังหวัดอ่างทอง จึงตัดสินใจเข้าเรียนต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์จนจบวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) สาขาวิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทเวศร์ เมื่อปี 2532 แล้วสอบเข้าทำงานใน MEA โดยเริ่มต้นด้วยตำแหน่งวิศวกรไฟฟ้า 4 สังกัดฝ่ายพาณิชย์ (ฝ่ายบริการระบบไฟฟ้าในปัจจุบัน) ก่อนคว้าปริญญาโท Master of Science in Electricity Industry Management and Technology จาก University of Strathclyde
สก็อตแลนด์มาได้อีกใบ
“ผมเข้าทำงานที่ MEA เมื่อปี 2533 ตอนนั้นเป็น Project Engineer รับผิดชอบงานออกแบบระบบไฟฟ้าให้กับลูกค้าขนาดใหญ่ รวมถึงดูแลงานทางด้านสาธารณูปโภคระบบไฟฟ้าให้กับสนามบิน และดูแลระบบพลังงานให้กับลูกค้าที่ต้องการความมั่นคงสูง อย่างเช่น โรงพยาบาลขนาดใหญ่ พอทำมาได้ระยะหนึ่งก็ปรับเปลี่ยนเป็น Project Manager ให้กับโครงการพลังงาน อย่างการติดตั้งโซลาร์เซลล์ จัดการเกี่ยวกับโครงการพลังงานขนาดใหญ่ เรียกได้ว่าเติบโตมาทางสายงานโครงการเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงได้รับประสบการณ์ในงานบริหารโครงการติดตัวมา” คุณวิลาศเล่าถึงการทำงานที่เพิ่มพูนประสบการณ์ให้เขาเรื่อยมา จนมาถึงตำแหน่งผู้บริหาร ทั้งผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจบริการและคุณภาพไฟฟ้า ผู้ช่วยผู้ว่าการธุรกิจและบริการ รองผู้ว่าการกิจการองค์กรและสังคม และรองผู้ว่าการบริการระบบจำหน่าย ก่อนเข้ารับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ MEA ในวันนี้
ผู้นำยุคใหม่ แข็งแกร่งแต่ยืดหยุ่น
พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง
หากหันกลับไปมองในเส้นทางการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันนี้ คุณวิลาศเผยว่า การเติบโตในแต่ละช่วงเวลามีหลักยึดต่างกันตามลำดับ โดยช่วงแรกของการทำงานเน้นความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ เพื่อสร้างความจดจำและความน่าเชื่อถือให้กับตัวเอง ถัดมาเมื่อก้าวขึ้นเป็นนักบริหารระดับกลาง นอกจากวิชาชีพยังต้องรับผิดชอบดูแลในหลายเรื่อง จึงต้องให้ความสำคัญต่อทักษะการบริหารจัดการด้วย และเมื่ออยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมคือ Intrapreneurship หรือทักษะการเป็นเจ้าของกิจการ ที่ต้องเห็นศักยภาพขององค์กร เข้าใจคู่แข่ง และมองถึงอนาคตขององค์กรเป็นหลัก
วันนี้ เมื่อต้องเข้ามารับหน้าที่แม่ทัพใหญ่ในการนำพา MEA ให้เดินหน้า ผู้ว่าการคนใหม่มองว่าผู้นำในห้วงเวลาเช่นนี้ควรมีทั้งความแข็งแกร่งและยืดหยุ่น สามารถนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมาย พร้อมปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
“หลักเกณฑ์ที่ผมใช้คือต้องเร็ว ชัดเจน มุ่งสู่ Smart Utility ตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ 3 ช่วง ช่วงแรกตั้งแต่นี้จนจบปี 2565 ต้องมุ่งสู่การเป็น Smart Energy ช่วงถัดไปจนถึงปี 2570 จะใช้นวัตกรรมมาขับเคลื่อนองค์กรเป็น Innovative Utility และในช่วงปี 80 กำหนดไว้ว่า MEA จะเป็น Sustainable Utility ซึ่งเป็นกรอบในการดำเนินงานที่ชัดเจนมาก” เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายดังกล่าว คุณวิลาศเผยถึงภารกิจที่กำหนดไว้ดังนี้คือ “สร้างการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ส่งมอบนวัตกรรมบริการที่เป็นเลิศแก่ลูกค้า ขยายความร่วมมือทางธุรกิจผ่านพันธมิตร ด้วยโอกาสและความภาคภูมิใจสำหรับสมาชิกทีมการไฟฟ้านครหลวง”
ให้ความสำคัญต่อคนทำงาน
ส่งเสริมค่านิยมองค์กร
หนึ่งในเรื่องที่ผู้ว่าการ MEA ให้ความสำคัญที่สุดคือ เรื่องของคนและทีมงาน คุณวิลาศมองว่า คน คือหัวใจในการขับเคลื่อนองค์กร หากคนทำงานด้วยใจ ไม่ว่าองค์กรไหนก็เจริญก้าวหน้าได้
“เรื่องคนผมมองในภาพรวมที่ยุทธศาสตร์ ขององค์กรก่อน โดยมองว่าเราจะพัฒนาไปในแบบไหน อนาคต MEA จะเป็นอย่างไร วันข้างหน้าลูกค้าของเราจะมีพฤติกรรมอย่างไร จากนั้นจึงกลับมามองว่า คนของเราจะต้องเป็นอย่างไร คำตอบคือ คนของ MEA ก็ต้องพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าเช่นเดียวกับองค์กรและลูกค้าของเรา ทั้งนี้เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น เราจึงมี HR Pipeline ที่เริ่มตั้งแต่กระบวนการสรรหาจนเกษียณ หรือ Hire to Retire คือนอกจากจะหาคนที่เหมาะกับ MEA แล้ว ยังทำแผนการพัฒนาพวกเขาด้วย ทั้งแผนพัฒนาปกติที่ก้าวไปตาม Career Path ขององค์กร และแผนพัฒนาคนที่มีพรสวรรค์(Talent and Successor Management)
ให้เขาประสบความสำเร็จในอนาคต ส่วนเรื่องของช่องระหว่างวัยที่หลากหลายก็มีแผน Diversity Management ที่จะหลอมรวมทั้งประสบการณ์ของคนรุ่นเก่า และความท้าทายสิ่งใหม่ ๆ ของคนรุ่นใหม่ เข้าด้วยกัน เพื่อให้องค์กรได้ประโยชน์อย่างเต็มที่”
นั่นคือเรื่องที่ผู้นำองค์กรให้ความสำคัญ โดยเสริมว่าการทำงานใน MEA นอกจาก Productivity ในเรื่องงาน ที่นี่ยังใส่ใจคุณภาพชีวิต หรือ Wellbeing ของพนักงานทุกคน ทั้งระหว่างที่ยังอยู่ในฐานะพนักงานและยามเกษียณไปแล้ว โดยให้ความรู้เรื่องการออมเงิน ฝึกอาชีพหลังเกษียณ และส่งเสริมการดูแลสุขภาพให้กับพนักงานทุกคน
สำหรับค่านิยมองค์กร คุณวิลาศเผยว่ายังคงยึดมั่นในค่านิยม CHANGE ที่ประกอบไปด้วย Customer Focus ให้ความสำคัญกับความต้องการผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นอันดับแรก Harmonization บูรณาการ ทำงานอย่างสอดประสานทุกหน่วยงานให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับวิสัยทัศน์ขององค์กร Agility ทำงานด้วยความคล่องตัว เร็ว และปรับเปลี่ยนให้ทันการณ์ New Idea สร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้ไฟฟ้า Governance ให้บริการด้วยความโปร่งใส และ Efficiency ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างคุณค่าคืนสู่สังคมมุ่งมั่นจะทำให้ CHANGE เป็น DNA ของคน MEA ทุกคน
มองโลกสองด้าน เพื่อการบริหารงาน
อย่างมีประสิทธิภาพ
เอ่ยถามถึงมุมมองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID -19 ที่ส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ รวมถึงการดำเนินงานของ MEA ผู้ว่าการคนใหม่เปิดมุมมองให้ฟังว่า เหรียญมีสองด้านฉันใด ในทุกสถานการณ์ก็ย่อมมีผลกระทบ 2 มิติเสมอ
“บทเรียนหรือผลกระทบจาก COVID-19 ผมมองว่ามี 2 มิติ หนึ่งคือผลกระทบด้านลบ แน่นอนว่าหลายธุรกิจได้รับผลกระทบ บ้างหยุดชะงัก บ้างก็ต้องจากไปด้วยสถานการณ์นี้ สำหรับ MEA วิกฤตนี้ทำให้ยอดจำหน่ายไฟฟ้าลดลง แต่มิติด้านบวกคือมีโอกาสซ่อนอยู่ นั่นคือโอกาสในการดำเนินธุรกิจด้านอื่นที่จะตอบสนองความต้องการของผู้คนในช่วงเวลาเช่นนี้ ในส่วนของ MEA หากมองในมุมบวกเราได้ทดสอบระบบงานและคนของเราครั้งใหญ่ นั่นคือแผน BCP หรือแผนดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และแผนการจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่เราได้นำมาใช้อย่างจริงจัง ทำให้เห็นว่าระบบของเรามีมาตรฐานและศักยภาพที่จะรองรับสถานการณ์แบบนี้ได้” คุณวิลาศบอกเล่าด้วยท่าทีจริงจัง พร้อมเผยถึงนโยบายการให้บริการในช่วงสถานการณ์ COVID -19 ว่า ความมุ่งมั่นคือต้องสามารถให้บริการพี่น้องประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดูแลสุขภาพอนามัยของทั้งพนักงานและลูกค้าของ MEA
ทั้งนี้ นอกจากจะกระทบต่อการดำเนินงาน COVID-19 ยังส่งผลต่อการวางนโยบายต่าง ๆ ขององค์กรด้วย ผู้ว่าการ MEA คนใหม่อธิบายว่า โดยปกติการกำหนดนโยบายมีหลักคิดที่เป็นระบบจากทีมผู้บริหาร โดยยึดเอาความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และพิจารณาสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็น
ส่วนประกอบ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ไม่ปกติ การวางนโยบายของ MEA จึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามวิถีชีวิตใหม่ที่จะเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ เช่น การเปลี่ยนไปสู่สังคมไร้การสัมผัส และการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจไปสู่ Business at Home มากขึ้น ทำให้ MEA ต้องมุ่งสู่ดิจิทัลเพื่อให้บริการแบบ Touchless Society เพื่อตอบสนองกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เรียกได้ว่า
COVID-19 ท้าทายการบริหารงานของผู้นำองค์กร
ยุคใหม่เป็นอย่างมาก
ความท้าทาย ผลักดันให้ก้าวสู่เป้าหมาย
Smart Utility ในเร็ววัน
หากจะบอกว่าการก้าวมารับตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง คนที่ 18 ของคุณวิลาศ เต็มไปด้วยความท้าทายรอบด้านก็คงไม่ผิดนัก เพราะเป็นการเข้ามารับหน้าที่ในห้วงเวลาแห่งความผันผวนซึ่งยากจะคาดเดาถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่กระนั้นเขาก็เตรียมพร้อมที่จะรับมือเป็นอย่างดี
“ความท้าทายในภาพใหญ่ คือเรื่องของโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป ทำให้การไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นฝั่งผลิตหรือจำหน่าย ต้องปรับตัวตามกระแสโลกและนโยบายที่เปลี่ยนไป ซึ่งหากถามว่าในสถานการณ์เช่นนี้ผู้นำต้องเก่งทางด้านไหน ผมมองว่าผู้นำต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ในลักษณะของ Adaptive Leader และพาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตให้ได้ ส่วนความท้าทายภายในองค์กร คือการพา MEA ให้ก้าวไปสู่ความ Smart โดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะเรื่องของระบบไฟฟ้า อย่างแผนนโยบาย Smart Metro Grid พอผมเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการ ต้องดำเนินการระบบนี้ให้เสร็จในปี 2565 ทั้งในเรื่องของ Smart Meter และสาธารณูปโภคของตัวระบบใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา นอกจากนี้ความท้าทายที่สอง คือเรื่องของบริการต่าง ๆ ที่จะต้องถูกยกระดับให้มีความเป็นสากลขึ้น ต้องมีการปรับให้เป็น Fully Digital Service ทั้งหมด เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของประชาชนได้ และสุดท้าย คือความท้าทายในเรื่องของคน บุคลากรของ MEA ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เป็น Smart People ทั้งหมด ตามการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ที่สำคัญคือต้องมีทีมที่พัฒนาในเรื่องของการใช้ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำพา MEA ไปสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลในอนาคต”
ผู้นำ MEA ในวันนี้อรรถาธิบายถึงสิ่งที่รออยู่ ซึ่งทั้งหมดที่เขาอธิบายมาคือความท้าทายที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือการผลักดันให้ MEA เป็น Smart Utility ในเร็ววัน
มุ่งพัฒนาเพื่อวิถีชีวิตมหานครที่ดีขึ้น…
มีความสุขมากขึ้น
แน่นอนว่าหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ย่อมมาพร้อมกับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ สำหรับผู้ว่าการ MEA มีภารกิจหลายด้านที่ต้องขับเคลื่อน โดยเฉพาะการพัฒนาบริการอันจะนำไปสู่การเป็นพลังงานเพื่อเมืองมหานครตามวิสัยทัศน์ ซึ่งคุณวิลาศมุ่งมั่นที่จะเดินตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้อย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันให้ทุกเป้าหมายประสบความสำเร็จอย่างที่หวังไว้
เริ่มจากการให้บริการทางดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ หรือ Fully Digital Service ภายในปี 2565 โดยจะนำเอาทุกบริการของ MEA ใส่ลงไปในแอปพลิเคชัน MEA Smart Life ทั้งหมด เพิ่มช่องทางการติดต่อบนโซเชียลมีเดีย และพัฒนาส่วนงานซ่อมแซมแก้ไขระบบไฟฟ้า พัฒนาระบบบริหารงาน
ภาคสนามที่เรียกว่า Field Force Management เฟส 2 (FFM+) ที่จะช่วยให้ช่างเข้าไปแก้ไขได้รวดเร็วขึ้น
อีกหนึ่งโครงการที่ถูกจับตามองอย่างมากคือ โครงการสายไฟฟ้าใต้ดิน คุณวิลาศเผยว่า “โครงการสายไฟฟ้าใต้ดินเป็นโครงการที่ MEA ให้ความสำคัญมาก ทั้งในแง่ของการให้บริการที่จะมีความมั่นคงและเพียงพอต่อความต้องการของเมืองที่ขยายตัวขึ้น และในด้านทัศนวิสัยที่จะทำให้เมืองดูเป็นระเบียบสวยงาม แต่ด้วยอุปสรรคในการดำเนินงานหลายด้าน ทั้งต้องประสานกับการประปา-นครหลวง เจ้าของสายสื่อสาร เจ้าของพื้นที่อย่างกรุงเทพมหานคร ที่ต้องวางแผนร่วมมือกัน และการจัดการเรื่องเวลาให้เหมาะสม จึงทำให้ล่าช้า อย่างไรก็ตาม เราจะเร่งดำเนินการต่อให้ได้ 200 กว่ากิโลเมตรในปี 2568” นอกจากนี้ยังมีโครงการ Smart Meter ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Smart Metro Grid ที่ผู้ว่าการคนใหม่เผยว่ากำลังเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด 30,000 กว่าจุดจะต้องเสร็จในปี 2565
ทั้งนี้ด้วยสไตล์การบริหารงานซึ่งรวมทักษะแบบ Core Leadership ที่มีวิสัยทัศน์ ตัดสินใจได้ และมีความเป็นธรรม เข้ากับทักษะ Adaptive Leadership ซึ่งเข้าใจปัญหาที่สลับซับซ้อนในปัจจุบัน คุณวิลาศ เชื่อว่าจะสามารถนำพาองค์กรให้เดินหน้าต่อไปได้ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับการ Disruption ท้าทายกับ Mega Trend ใหม่ๆ หรือแม้แต่ต่อกรกับอุปสรรคปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต “รูปแบบการนำองค์กรของผมให้ความสำคัญทั้ง Core Leadership และ Adaptive Leadership โดยเฉพาะทักษะอย่างหลังนี้จำเป็นมาก เพราะยุคนี้เราต้องเข้าใจและสามารถแก้ไขปัญหาที่สลับซับซ้อนได้ ถึงจะพาองค์กรให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน” เขากล่าว
GIVE บทบาทของผู้ว่าการ
ที่จะขับเคลื่อน MEA สู่ความยั่งยืน
การเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ MEA ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมพลังงาน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่คุณวิลาศก็พร้อมรับมือ ด้วยการทำความเข้าใจ บริบทต่างๆ ควบคู่กับการพัฒนาคนให้เป็น People of Tomorrow รองรับ Customer of Tomorrow ที่ความต้องการเปลี่ยนไป เพื่อนำพา MEA ไปสู่การเป็นพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร ตามวิสัยทัศน์
“ภายใต้เป้าหมายการเป็นพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร ผมมีแนวนโยบายหลัก 3 ประเด็นที่อยากทำในช่วงแรก หนึ่งคือ การพัฒนาระบบไฟฟ้าไปสู่ Smart Metro Grid ที่ต้องเสร็จภายในปี 2565 ถัดมาคือ MEA Anywhere ที่ลูกค้าสามารถใช้บริการจากที่ไหนก็ได้ และพนักงานก็พร้อมที่จะให้บริการได้จากทุกที่ สุดท้ายที่ผมคาดหวังคือ ต้องมีนวัตกรและนวัตกรรมเกิดขึ้นในองค์กร ซึ่งจะทำให้องค์กรของเราต่างจากองค์กรอื่น และสามารถนำความแตกต่างนี้ไปสร้างความเจริญเติบโตให้ MEA ได้อย่างยั่งยืนในอนาคต”
การไฟฟ้านครหลวงเป็นของประชาชน เรามุ่งมั่นอย่างที่สุดที่จะให้บริการ มีความต่อเนื่อง รวดเร็ว เข้าถึงง่าย และเท่าเทียม เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของคนเมืองทุกคน
นั่นคือสิ่งที่มุ่งหวัง ทั้งนี้ในฐานะผู้ว่าการ เขาพร้อมที่จะขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย ด้วยการกำหนดบทบาทของตนเองไว้ภายใต้คำว่า “GIVE” “ผมกำหนดบทบาทของผู้ว่าการไว้ด้วยคำนิยามสั้น ๆ ว่า GIVE ซึ่งมาจาก Good Partnership คือต้องมีทีมงานที่ดีและมีความร่วมมือจากพันธมิตรในการพัฒนาธุรกิจร่วมกัน Inspiration to Next Generation Leader ต้องสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้นำยุคใหม่มีความเข้มแข็งในทุกระดับ Velocity ตัดสินใจรวดเร็ว มีเป้าหมายที่ชัดเจน สุดท้ายคือ Empowerment คือกระจายอำนาจให้คนอื่นสามารถตัดสินใจได้ ทำให้รู้สึกมีส่วนร่วมและรักองค์กร นี่คือ GIVE ที่ผมตั้งใจไว้ครับ”
สุดท้าย คุณวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA คนที่ 18 ทิ้งท้ายว่า การไฟฟ้านครหลวงเป็นของประชาชน มีเป้าหมายที่จะเพิ่มความสุขให้แก่พี่น้องประชาชนในมหานคร ดังนั้นจึงมุ่งมั่นอย่างที่สุดที่จะให้บริการ
มีความต่อเนื่อง รวดเร็ว เข้าถึงง่าย และเท่าเทียม เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของคนเมืองทุกคน
Comments