ต้น-ชนากิตติ์ ปิ่นนิกร วัง-วสวัตติ์ สุขรุ่ง
นักประมวลผลข้อมูล 8 วิศวกรไฟฟ้า 6
ฝ่ายพัฒนาระบบงานประยุกต์ ฝ่ายพัฒนาระบบงานประยุกต์
ด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแล พัฒนาระบบ GIS ของ MEA ผนวกกับความไม่หยุดนิ่ง ในการแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ ทำให้สองหนุ่มไอที ต้น-ชนากิตติ์ ปิ่นนิกร นักประมวลผลข้อมูล 8 และ วัง-วสวัตติ์ สุขรุ่ง วิศวกรไฟฟ้า 6 จากฝ่ายพัฒนาระบบงานประยุกต์ เดินหน้าเข้าอบรม Data Analyst (DA) ทันทีที่หลักสูตรนี้เปิดรับสมัคร
“จริง ๆ ผมอบรมในด้านของไอทีมาแล้วค่อนข้างเยอะ แต่มาเห็นว่าหลักสูตร Data Analyst หรือ DA จะช่วยทำให้เราได้เห็นข้อมูล และได้เรียนรู้ในด้านอื่น ๆ ที่แตกต่างไปจากความรู้เดิมที่มี ซึ่งเราสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับองค์กรได้ และเกิดประโยชน์กับประเทศชาติให้มากที่สุดครับ”
ต้น-ชนากิตต์ เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเข้าอบรมหลักสูตร Data Analyst (DA) ซึ่งความรู้สึกของเขาก็ไม่แตกต่างกันนักกับเพื่อนร่วมฝ่ายอย่างหนุ่ม วัง-วสวัตติ์ ที่สนใจในหลักสูตร DA ตั้งแต่แรกเริ่มเปิดรับสมัครเลยทีเดียว
“ผมสนใจตั้งแต่เขาเปิดรับสมัครเลยละครับ พอได้มาเรียนก็ไม่ผิดหวังเลย เพราะได้เรียนความรู้ใหม่ ๆ และได้ใช้โปรแกรมใหม่ ๆ อย่าง Power BI ซึ่งแต่เดิมที่ GIS เราก็มีโปรแกรมวิเคราะห์ Data อยู่แล้วส่วนหนึ่ง แต่ก็มีข้อดีข้อเสียคนละด้านกันกับ Power BI ของ GIS จะเน้นทางแผนที่ แต่ของ Power BI เน้นการแสดงผลในรูปแบบแดชบอร์ด...”
เพราะความสนใจในความรู้ใหม่ ทำให้เขาทั้งสองมุ่งมั่นตั้งใจเรียน แม้จะมีความท้าทายจากความยากในการเรียนผ่านระบบออนไลน์ แต่ ต้น กับ วัง ก็เดินหน้าทลายอุปสรรค สร้างโปรเจกต์ที่ชื่อ “Grid capacity analytics” คว้ารางวัลชนะเลิศของหลักสูตร Data Analyst (DA) รุ่นที่ 2 มาได้เป็นผลสำเร็จ นี่ละ คู่หูคู่เก่งตัวจริง
“ผมก็รู้สึกเซอร์ไพรส์เหมือนกันครับ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า เรามีเป้าหมายคือเราถืองานจริงเข้ามา ผลลัพธ์ของงานเรามัน คือ output ที่นำไปใช้งานได้จริง หรือเกือบจะใช้ได้จริงละ เพราะว่าสุดท้ายมันจะต้องมาปรับปรุง ทำให้การใช้งานมันมีความสะดวกและถูกต้อง มีประสิทธิภาพมากที่สุดครับ” ต้นกล่าว
ส่วนวิศวกรหนุ่ม วัง ก็เสริมเพื่อน ต้น ถึงความรู้สึกเกินคาดหมายกับรางวัลที่ได้รับ
“สำหรับผม ตอนแรกก็ไม่คิดเหมือนกันว่าจะได้รับรางวัลขนาดนี้ เพราะที่เราตั้งเป้าไว้ครั้งแรก คือสามารถตอบโจทย์ให้กับ User ที่เขามาร้องขอได้ อันนั้นคือเป้าหมายที่เราวางกันไว้ เราก็พยายามทำทุกอย่างตอบสนองความต้องการของ User ให้ได้ก่อนครับ ทำให้ User เขาแฮปปี้ ซึ่งถ้าเขาแฮปปี้ อันนั้นก็คือ รางวัล ส่วนรางวัลชนะเลิศที่ได้รับนี้ ถือว่าเกินคาดหมาย
ไม่คิดว่าจะได้ครับ”
เกริ่นมาขนาดนี้แล้ว ชักอยากรู้แล้วสิว่า โปรเจกต์ “Grid capacity analytics” ที่เขาทั้งสองได้รับรางวัลชนะเลิศมานั้น เป็นโปรเจกต์เกี่ยวกับอะไร แล้วตอบโจทย์อย่างไรให้กับ User ในองค์กรบ้าง ซึ่งหนุ่มวัง-วสวัตติ์ ก็อาสาเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงที่ภูมิใจ
“โปรเจกต์นี้ เกิดจากการที่มี User กลุ่มหนึ่ง เขาขอความช่วยเหลือ คือจากเดิมที่เขาใช้ Process ด้วยการใช้ไฟล์ Excel ในการเก็บข้อมูลของผู้ที่ต้องการขอเชื่อมต่อ Grid กับ MEA ครับ ซึ่งเวลาเขารวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ในไฟล์ Excel มันค่อนข้างกระจัดกระจาย และมุมมองข้อมูลสามารถทำได้ยาก เพราะมันเป็นตารางเล็ก ๆ หน้าใหญ่มาก ...
ซึ่งถ้าเรามีเครื่องมือตัวหนึ่งที่สามารถมาสรุปภาพรวมของไฟล์นั้น และทำให้เขาสามารถวิเคราะห์พิจารณาตัดสินใจได้ง่ายว่า สายป้อนตรงนี้มันสามารถรองรับปริมาณกำลังการผลิตที่เขาขอเชื่อมต่อตรงนี้ได้หรือไม่ ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว คือจากเดิมที่ทำงานกันใช้เวลาวันสองวัน อาจจะลดลงเหลือเพียงใช้เวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่กี่นาที คืออันนี้มันจะเป็นประโยชน์มากกับองค์กร ผมก็เลยเกิดไอเดียมาคุยกับคุณต้นว่า เรามาทำโปรเจกต์ตรงนี้ดีไหม เพราะเรามีเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลพวกนี้อยู่แล้ว ข้อมูล GIS เราก็มี ส่วนข้อมูลที่เราขาด เราก็สามารถหาได้จากทาง ฝวฟ. ที่เขาร้องขอให้เราทำระบบตรงนี้ ซึ่งจากองค์ประกอบที่เรามีทั้งหมด ผมคิดว่า มันพอเป็นไปได้ ผมก็เลยลองเสนอโปรเจกต์นี้เข้าไปในการเรียน Data Analyst รอบนี้ดูละครับ...”
มาถึงตรงนี้ ต้นเสริมถึงที่มาของความสำเร็จให้เราฟังว่า “เป้าหมาย” คือสิ่งสำคัญ ที่เราต้องมีก่อนเริ่มโปรเจกต์
“เราเอางานจริงเข้ามาเรียนครับ มันก็จะทำให้งานของเราค่อนข้างชัดเจนและมีเป้าหมาย ซึ่งตอนที่เราเริ่ม เราก็ยังไม่ทราบหรอกครับว่า ผลงานของเราจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร แต่เรามีเป้าหมายที่จะทำ และนำความรู้ที่เราได้เรียนมาตลอดระยะเวลาหลายเดือนนี้ นำมาทำให้เกิดเป็นผลงานครับ ซึ่งมันเกิดเป็นประโยชน์ให้กับหน่วยงานที่เขาต้องการนำงานของเราไปใช้ได้ด้วยครับ”
แต่กว่าจะทำให้โปรเจกต์ชิ้นโบแดงนี้สำเร็จ หนุ่มวังบอกกับเราว่า มันไม่ง่ายจริง ๆ
“ปัญหาอาจจะมีจากสถานการณ์ที่เราจะต้องเจอกันทางออนไลน์ ทำให้สมาชิกในกลุ่มไม่ค่อยได้มีโอกาสหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันน้อยลง การแก้ก็คือ เราก็ต้องสร้างกลุ่มไลน์ขึ้นมา เพื่อที่จะนัดประชุมกันว่า วันนี้เราจะติวกันนะ ใครมีคำถามอะไร ก็มาถามกันในกรุ๊ปไลน์ ตรงนี้ก็อาจจะถือว่าเป็นอุปสรรคก็ได้ แต่พวกเราก็ผ่านมันมาได้ ก็อาจจะถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของรุ่นเรา (หัวเราะ) ที่รุ่นอื่นเขาไม่มี มันก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง จะว่าเป็นปัญหาก็ไม่น่าจะใช่ เพราะเราก็แก้กันมาได้”
แต่สำหรับต้นแล้ว เขาคิดว่าความยากของโปรเจกต์นี้ มันอยู่ที่ “ข้อมูล”
“มันจะมีปัญหาอย่างหนึ่งที่ค่อนข้างจะคลาสสิกเลย ก็คือ เรื่องที่เราจะต้องทำความเข้าใจกับข้อมูล ซึ่งถ้าเป็นข้อมูลใน GIS อันนี้เรารู้จักกันค่อนข้างดีอยู่แล้ว แต่การที่เราจะต้องไปทำความเข้าใจกับข้อมูลอื่นที่ต้องนำมาประกอบกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งผมกับวังก็โชคดีอย่างหนึ่ง คือพวกเราอยู่ในสายงานไอที เรื่องการบริหารจัดการข้อมูล เราค่อนข้างจะมีเทคนิค แต่อาจจะติดตรงที่ต้องทำความเข้าใจข้อมูล ทำความสะอาดข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้ อันนี้เป็นปัญหาที่พบ ซึ่งเราก็ต้องใช้เวลา และขยันทำความเข้าใจในข้อมูลที่เรามาทำโปรเจกต์ครับ”
ตลอดระยะทางในการทำโปรเจกต์ แม้จะต้องเจอกับความยากที่เดินทางมาท้าทายอยู่เป็นระยะ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้สองหนุ่มไอทีย่อท้อและยอมแพ้แต่อย่างใด ด้วยใจที่รักในงานที่ทำ การขวนขวายหาความรู้ใหม่ เพื่อมาพัฒนาตนเอง จึงเปรียบเสมือนการเดินทางผจญภัยที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับพวกเขาเสมอ นี่แว่ว ๆ ว่า ปีหน้าหนุ่มทั้งสองก็มีแผนการที่จะเติมเต็มความรู้ใหม่กันอีกแล้วละ ส่วนจะเป็นการเรียนทางด้านไหนนั้น ไปฟังหนุ่มวังกันก่อนเลย
“ในปีหน้าก็ตั้งเป้าว่าจะเรียนหลักสูตรต่อไปครับ ซึ่งที่สนใจก็จะเป็น DS (Data Scientist) ครับ และก็วางแผนจะศึกษาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะมาประยุกต์ใช้กับงานของเรา เช่น IoT เพราะเดี๋ยวเราจะมีโครงการ Smart Grid ขึ้น ซึ่ง IoT ผมคิดว่าจะมาช่วยในงานเราได้ค่อนข้างเยอะ ก็คิดว่าจะไปศึกษาตรงนี้เพิ่มเติม เพื่อที่จะมาประยุกต์ใช้กับงานของเราครับ ซึ่งก็จะใช้ร่วมกับ Data Analytic ที่เราเรียนมา เพราะเป็นการเก็บข้อมูลมาเหมือนกันครับ”
ส่วนหนุ่มต้นนั้น
“สำหรับผม ในฐานะที่เป็นนักประมวลผลข้อมูล ปีหน้าผมก็อยากจะเรียนรู้ในภาษาใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่ใช้ในการจัดการข้อมูล หรือภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการพัฒนาระบบ ซึ่งถ้างานไม่เร่งจนเกินไป ก็คงจะได้ลองของใหม่ ๆ มาเพื่อพัฒนาตัวเอง และเพื่อทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ”
“ความไม่หยุดนิ่ง” กับความสำเร็จในวันนี้ น่าจะเป็นนิยามจำกัดความถึง สองหนุ่ม DA ต้น-ชนากิตติ์ ปิ่นนิกร และ วัง-วสวัตติ์ สุขรุ่ง ได้เป็นอย่างดี
Comments