วัช-วัชระ กางกั้น
วิศวกรคอมพิวเตอร์ 7 ฝ่ายพัฒนาระบบงานประยุกต์
อีกหนึ่งคนเก่งที่คว้ารางวัลชนะเลิศ จากการนำเสนอโครงการ “Physical Risk point” ในหลักสูตรการอบรม Data Scientist (DS) ที่ MEA ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่ออบรมพัฒนาบุคลากรภายในองค์กรให้มีการพัฒนาการทางด้านนวัตกรรม ซึ่ง วัชระ กางกั้น หรือ วัช วิศวกรคอมพิวเตอร์ 7 คนเก่งจากฝ่ายพัฒนาระบบงานประยุกต์ ก็นำผลงานชิ้นเยี่ยมยอดนี้คว้ารางวัลชนะเลิศมาได้เป็นผลสำเร็จ
ว่าแต่โครงการ “Physical Risk point” นั้นคืออะไร และสร้างประโยชน์อะไรให้กับองค์กรบ้าง คงไม่มีใครให้คำตอบได้ดีเท่ากับแชมเปี้ยนของเรา
“Physical Risk point ก็คือ จุดเสี่ยงกายภาพ แรงบันดาลใจในการทำโปรเจกต์นี้ จริง ๆ มันเป็นเหมือนภารกิจของทางฝ่าย ที่อยากจะรู้ข้อมูลว่า เสาไฟฟ้าต้นไหนของ MEA เอียงบ้าง ซึ่งด้วยข้อมูลตอนนี้ที่เรามีรถโมบายล์แบบ MMS มันจะให้ข้อมูลที่เรียกว่า LiDAR เป็นเหมือน Laser Pointer ยิงไปที่ต่าง ๆ พอมันไปชนกับเสา มันมีความเป็นไปได้นะ ถ้าเรามาหาต้นเสา กลางเสา ปลายเสา เรามาหาค่าเฉลี่ยอะไรบางอย่าง เพื่อบอกว่าเสามันตรง เสามันเอียง ด้วยค่าอะไรสักค่าหนึ่ง ให้มันดูง่าย ๆ ว่า ถ้ามันเป็นเลขนี้นะ เสาตรง เลขนี้นะเสาเอียง
พอได้ข้อมูลมาเยอะ ๆ เขาจะเรียกว่า พอยต์คลาวด์ แต่ด้วยไฟล์ที่เป็น LiDAR มันไม่สามารถบอกตัวเองได้ว่าคลาวด์กลุ่มนี้ คือ เสาไฟนะ หรือต้นไม้นะ ผมก็ได้นำความรู้ที่ได้เรียนมา เขาบอกว่ามีฟังก์ชันในการหาความหนาแน่นว่าถ้ามันกระจุกรวมตรงนี้ มันจะเป็น Quantiles เท่าไร เราลองเอาฟังก์ชันนี้มากรองทั้งข้อมูล มาลองทำดู เออ มันถูกนะ ก็โล่งใจไปเปลาะหนึ่ง โปรเจกต์นี้รอดแล้วละ (หัวเราะ) ”
โครงการที่ตอบโจทย์และให้ข้อมูลที่ช่วยสร้างประสิทธิภาพการทำงานให้กับองค์กร และที่สำคัญสามารถปฏิบัติงานได้จริง ไม่แปลกใจเลยว่า โครงการของหนุ่มวัชคนนี้ ทำไมถึงชนะใจกรรมการคว้ารางวัลได้เป็นผลสำเร็จ
“ผมคิดว่าที่ได้รางวัลชนะเลิศ เพราะว่ามันเป็นปัญหาที่ทาง MEA มีอยู่แล้ว พอโปรเจกต์เราสามารถเข้ามาช่วยดำเนินการตรวจสอบปัญหาได้ หรือว่าเข้ามาช่วยค้นหาว่าจุดตรงไหนเป็นปัญหาได้ มันก็เลยเป็น โปรเจกต์ที่ตอบโจทย์ได้ มันสามารถมาช่วยลดงานใน MEA ได้นะ ก็คิดว่า ณ จุดนี้ครับ จึงทำให้โปรเจกต์นี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ”
ปิดท้ายกับคำแนะนำดี ๆ ที่เขามอบให้กับนักเรียนในหลักสูตร Data Scientist (DS) ในรุ่นต่อไป ใครอยากคว้ารางวัลใหญ่อย่างเขาต้องฟังให้ดี
“สำหรับคนที่อยากจะมาเรียน ผมอยากให้ทุกคนคิดก่อนเลยว่า เรามีปัญหาอะไรที่อยากแก้ไขก่อน เพราะมันจะทำให้เราสามารถโฟกัสได้ง่าย ๆ ว่า ฉันจะทำเรื่องนี้นะ ฉันต้องเตรียมข้อมูลอะไรบ้าง พอเราได้ข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งมาปุ๊บ ประกอบกับการเรียน เราจะเริ่มมองเห็นภาพได้ว่า ฉันมีปัญหา A ฉันมีข้อมูล B ฉันจะใช้โซลูชัน C อะไรในการเข้ามาแก้ไขปัญหา มันจะเกิดความง่ายในความคิดว่า อ้อ เรามีฟังก์ชันนี้ เราจะใช้ฟังก์ชันนี้มาใช้ในการแก้ปัญหาได้”
ด้วยความสำเร็จที่ได้มาจากความตั้งใจและการนำองค์ความรู้ใหม่ มาพัฒนาสร้างผลงานได้อย่างเป็นที่ยอมรับในองค์กร เชื่อเหลือเกินว่า วัชระ กางกั้น หนุ่มวิศวกรคอมพิวเตอร์ 7 จะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้กับนักเรียน DS รุ่นใหม่ได้อย่างแน่นอน
Comments