แม้กระแสยานยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่งคึกคักมาได้ไม่กี่ปี แต่ MEA ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ 10 ปีก่อน ด้วยการนำ EV เข้ามาใช้งานในองค์กร พร้อมกับศึกษาเรียนรู้ระบบต่าง ๆ เพื่อวางรากฐานสู่ธุรกิจในอนาคต มาถึงปี 2565 ในวาระที่ MEA EV ครบรอบ 10 ปี มีความก้าวหน้าอะไรบ้าง แนวโน้มทางธุรกิจเป็นอย่างไร ทีมคนทำงานเบื้องหลังเรื่องนี้พร้อมจะเผยให้ทุกคนได้รับทราบ พร้อมกับการคาดการณ์ว่า อนาคตที่ท้าทายกำลังรออยู่ไม่ไกลจากนี้แล้ว
“พร้อมออกจาก Comfort Zone บุกโลกธุรกิจ EV”
นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน
รองผู้ว่าการธุรกิจ
ในฐานะประธานคณะทำงานยานยนต์ไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง ผู้มีบทบาทในการกำกับดูแล MEA EV นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการธุรกิจ มองว่า MEA มีความพร้อมทั้งด้านประสบการณ์และความรู้ที่สั่งสมมานาน เมื่อภาครัฐอ้าแขนต้อนรับยานยนต์ไฟฟ้าสู่ประเทศไทยอย่างเป็นทางการ MEA ก็พร้อมที่จะกระโจนสู่ยุทธจักร EV เพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจนี้ให้เร็วที่สุด
ส่งเสริมภาครัฐ สนับสนุนผู้ใช้รถ ภารกิจหลัก MEA EV
“ย้อนไป 10 ปีก่อน เรื่องของ EV อาจจะยังไกลตัว แต่มาวันนี้ประชาชนตื่นตัวเรื่องการใช้พลังงานกันมาก ประกอบกับภาครัฐได้ส่งสัญญาณว่าสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 24 สิงหาคม 2564 ให้ส่วนงานราชการทั่วประเทศนำ EV มาใช้งาน ทั้งยังกำกับดูแลเรื่องอัตราภาษี ส่วนภาคเอกชนเองก็มีหลายค่ายนำรถยนต์ EV มาจำหน่ายในราคาที่จับต้องได้มากขึ้น เรียกว่าสถานการณ์รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยกำลังเติบโต ซึ่ง MEA ควรนำมาทบทวนเพื่อตั้งรับ ทั้งในแง่ของการบริการที่เกี่ยวเนื่อง และเชิงธุรกิจที่จะสนับสนุนธุรกิจหลัก นับเป็นโจทย์สำคัญที่องค์กรต้องนำมาพิจารณา
“ปัจจุบันภารกิจหน้าที่ของ MEA ที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้ามีอยู่ 2 ด้านด้วยกัน ด้านแรกคือ ร่วมมือกับภาครัฐกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งการจะทำให้คนเปลี่ยนใจได้ ต้องสร้างความมั่นใจและเชื่อมั่นก่อนว่า EV ไม่น่ากลัวและสะดวกสบาย คุ้มค่า มีสถานีให้บริการชาร์จไฟฟ้าอย่างทั่วถึง แม้ว่าการลงทุนเรื่องจุดชาร์จจะสูง มีจุดคุ้มทุนต่ำ แต่ MEA ก็ต้องทำและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอื่น ๆ ร่วมมือด้วย ส่วนอีกภารกิจหนึ่งคือ ทำอย่างไรให้คนที่เป็นเจ้าของ EV เกิดความปลอดภัยในชีวิต โดย MEA เราพร้อมที่จะให้คำปรึกษา ออกแบบ และติดตั้งระบบชาร์จในบ้านที่ได้มาตรฐานระดับพรีเมียม ช่วยให้เจ้าของรถชาร์จไฟได้อย่างสบายใจ ปลอดภัย เรียกได้ว่าภารกิจของเรามีทั้งส่วนที่เป็น Public Station และ Private Station เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้มากที่สุดและตรงจุดที่สุด”
10 ปีแห่งประสบการณ์ สร้างจุดแข็งทางธุรกิจ
“ด้วยจุดแข็งของเราในฐานะเจ้าของเครือข่ายและผู้ให้บริการระบบไฟฟ้าที่มีฐานข้อมูลลูกค้ากว่า 4 ล้านราย ผมเชื่อว่าจะทำให้เราได้เปรียบในธุรกิจนี้ เพราะสามารถออกแบบวงจรให้แต่ละบ้านได้ดีที่สุดและเกิดประโยชน์สูงสุด เรามีข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในบ้านอยู่อาศัยของลูกค้ากว่า 4 ล้านราย อีกทั้งเรายังมีฐานข้อมูลประวัติการชาร์จไฟจากหัวชาร์จตามสถานีต่าง ๆ ซึ่ง ณ วันนี้ MEA มีสถานีชาร์จแบบสาธารณะ 24 สถานี โดยมีหัวชาร์จชนิด Normal Charge (AC) จำนวน 35 หัวชาร์จ หัวชาร์จชนิด Quick Charge (DC) จำนวน 9 หัวชาร์จ ทำให้รู้ถึงพฤติกรรมของผู้ใช้ EV ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการเลือกตำแหน่งติดตั้ง และกำหนด Business Model ของสถานีชาร์จแต่ละสถานีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้”
“ทั้งนี้เรากำลังเดินหน้าติดตั้งหัวชาร์จให้มากขึ้น โดยได้จัดทำโครงการมอบของขวัญปีใหม่ 2565 ให้กับประชาชนในนามกระทรวงมหาดไทย ภายใต้ชื่อโครงการ ‘มหานครสดใส ชาร์จไฟกับ กฟน.’ โดยตั้งเป้าว่าในปีนี้จะติดตั้งสถานีชาร์จให้ได้ 100 หัวชาร์จ และจะติดตั้งเพิ่มขึ้นทุกปีต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 ปี เพื่อให้ได้หัวชาร์จสาธารณะ 600 หัวในปี 2570 ซึ่งเงื่อนไขในการติดตั้งหัวชาร์จคือ จะต้องเป็นสถานีชาร์จที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ เช่นที่เราเคยติดตั้งที่ 7-ELEVEN สาขาซอยลาซาล 7-ELEVEN สาขา สน.บางขุนนนท์ อาคารธนพัฒน์ ศูนย์ราชการ หมู่บ้าน THER ศูนย์บริการ MK Plus และสวนเบญจกิติ เป็นต้น ผมมองว่าเรื่องนี้คือเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะสังคมผู้ใช้ EV กำลังเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่หัวชาร์จไม่ได้เพิ่มเร็วแบบนั้น”
“นอกจากนี้อีกหนึ่งความท้าทายที่เข้ามาพร้อมกับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของยานยนต์ไฟฟ้าคือ หากจำนวนผู้ใช้เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลถึงความเชื่อมั่นในระบบจ่ายไฟของเราว่าจะสามารถจ่ายไฟได้อย่างเพียงพอหรือไม่ จุดนี้เป็นเรื่องที่ทั้ง 3 การไฟฟ้าต้องจับเข่าคุยกันเพื่อหาทางแก้ไขป้องกัน โดยอาจนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมในการสลับสับเปลี่ยนเวลาชาร์จ ซึ่งเรามั่นใจว่าจะควบคุมได้และจะสามารถจ่ายไฟได้อย่างมีคุณภาพ เพียงพอต่อความต้องการอย่างแน่นอนครับ”
ก้าวต่อไปไปสู่ยุทธจักรยานยนต์ไฟฟ้า
“สำหรับชาว MEA ผมอยากรณรงค์ให้ใช้ EV เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของเรา ซึ่งหากภายในองค์กรเรามีการใช้ EV เพิ่มขึ้น MEA ก็พร้อมสนับสนุนด้วยการติดตั้งสถานีชาร์จ เพื่อรองรับความต้องการ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายในการชาร์จไฟนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตามปกติ ซึ่งนับว่าเป็นการที่ต่างฝ่ายต่างสนับสนุนกัน องค์กรพร้อมสนับสนุนให้ท่านชาร์จไฟได้สะดวกด้วยสถานีชาร์จในออฟฟิศของท่านเอง ส่วนท่านที่ใช้ EV ก็ช่วยส่งเสริมให้ MEA มีรายได้ด้วยทางหนึ่ง
10 ปี MEA EV
“นับจากวันแรกจนถึงวันนี้ ต้องขอบคุณวิสัยทัศน์อันก้าวไกลของผู้บริหาร ที่คิดว่า MEA ควรนำ EV มาทดลองใช้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน ทำให้พวกเราได้เรียนรู้จากการเป็นองค์กรภาครัฐแห่งแรกที่นำ EV มาใช้ปฏิบัติงานในหลากหลายมิติ เรียกได้ว่าเป็นการลองผิดลองถูกมาตั้งแต่ต้น จนมาถึงปีนี้ที่เข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว เรามั่นใจว่าแต่ละก้าวในแต่ละปีของเรามีความมั่นคง เปี่ยมด้วยประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ที่สั่งสมมา วันนี้เมื่อ EV ในภาพใหญ่กำลังเติบโต ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องออกจาก Comfort Zone ก้าวไปสู่ยุทธจักรยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งมีมูลค่ามหาศาล โดยใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าที่มีในฐานะผู้นำในการใช้ EV คว้าโอกาสนี้ไว้แล้วเดินหน้าไปด้วยกันครับ”
“เปลี่ยนผ่านสู่ยุค EV ก้าวสู่ New Business ของ MEA”
นายธนิษฐ์ เมนะเนตร
ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองธุรกิจเกี่ยวเนื่องหน่วยงานภาครัฐ ฝ่ายธุรกิจบริการและคุณภาพไฟฟ้า
หนึ่งในเบื้องหลังสำคัญของ MEA EV คือแผนกธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า กองธุรกิจเกี่ยวเนื่องหน่วยงานภาครัฐ ฝ่ายธุรกิจบริการและคุณภาพไฟฟ้า ที่เดินหน้าต่อยอดธุรกิจ EV อย่างเข้มข้น จนวันนี้สามารถนำพา MEA EV เดินหน้าเหนือคู่แข่งไปแล้วหลายก้าว ทำให้ นายธนิษฐ์ เมนะเนตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองธุรกิจเกี่ยวเนื่องหน่วยงานภาครัฐ เชื่อมั่นว่าจะเป็น New Business ให้กับองค์กรได้อย่างแน่นอน
“สำหรับฝ่ายธุรกิจบริการและคุณภาพไฟฟ้า ทุกวันนี้เรามีภารกิจที่ต้องรับผิดชอบเกี่ยว MEA EV ใน 3 มิติ คือ ทำหน้าที่เหมือนเลขาของคณะทำงานยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อน MEA EV ในภาพใหญ่ อีกมิติหนึ่งคือการขยายผลในโลกธุรกิจ ด้วยการให้ความรู้เรื่องมาตรฐานและความปลอดภัยของระบบชาร์จ รวมถึงออกแบบติดตั้งระบบชาร์จในบ้านอยู่อาศัย มิติสุดท้ายคือการดำเนินโครงการของขวัญปีใหม่ของกระทรวงมหาดไทย ‘มหานครสดใส ชาร์จไฟกับ กฟน.’ ที่เร่งขยายสถานีอัดประจุไฟให้เพียงพอในพื้นที่พันธมิตรทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งทั้งหมดเพื่อตอบสนองและสนับสนุนนโยบายของ MEA และรัฐบาล โดยได้มีการจัดตั้งแผนกธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า สังกัดกองธุรกิจเกี่ยวเนื่องหน่วยงานภาครัฐ เปรียบเสมือนทีม Avenger ทำหน้าที่เป็น Start Up ที่ดูแลการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับ EV ทั้งหมดที่กล่าวมา”
“ด้านของบริการ แผนกธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าให้บริการออกแบบติดตั้งสถานีชาร์จทั้งแบบ Private Station และ Public Station โดย Private Station คือการติดตั้งระบบไฟฟ้าสำหรับรองรับการชาร์จในที่อยู่อาศัย ซึ่งเน้นบริการออกแบบ ติดตั้ง และจัดหาอุปกรณ์ตามความประสงค์ของลูกค้า แบบครบวงจร หรือที่เรียกว่า EPC เป็นหลัก ปัจจุบันมีบริการทั้งแบบ B2C คือออกแบบและติดตั้งจุดชาร์จในบ้านพักอาศัยของลูกค้าโดยตรง และแบบ B2B เช่น การออกแบบติดตั้งจุดชาร์จในคอนโดมิเนียมตามความประสงค์นิติบุคคลอาคารชุดแต่ละอาคาร นอกจากนี้ยังมีบริการแบบ B2B2C เป็นการให้บริการผ่านค่าย EV โดยเป็นตัวแทนในการออกแบบและติดตั้งจุดชาร์จให้กับลูกค้าของค่ายรถนั้น ๆ ส่วน Public Station คือให้บริการอัดประจุไฟฟ้าผ่านสถานีชาร์จของ MEA ตามจุดให้บริการต่าง ๆ ซึ่งตอนนี้เรามีโครงการ ‘มหานครสดใส ชาร์จไฟกับ กฟน.’ ที่วางแผนจะติดตั้งสถานีชาร์จในหน่วยงานรัฐและเอกชนที่มีศักยภาพครอบคลุมใน 3 จังหวัดของเรา
“หากพิจารณาจากแนวโน้มการเติบโตของสังคม EV เรียกได้ว่า ณ ตอนนี้ เรากำลังเปลี่ยนผ่านจากยุคน้ำมันไปสู่ยุคของพลังงานไฟฟ้า ผมมองว่า MEA ในฐานะหน่วยงานของรัฐ ต้องมีการเตรียมความพร้อม 4 ด้าน คือ เรื่องความพร้อมของระบบไฟฟ้า เทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ การติดตั้งสถานีชาร์จให้เพียงพอต่อความต้องการ และการให้ความรู้ด้านการใช้งานแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้อีกด้านหนึ่งที่สำคัญคือเราต้องพัฒนาคน หรือทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะทีมทำงานในแผนกธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ที่ต้องการองค์ความรู้ต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจ ดังนั้นเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน ต้องขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือให้การสนับสนุนส่งเสริม MEA EV เพื่อให้องค์กรของเรามุ่งสู่ New Business อย่างก้าวกระโดดครับ”
10 ปี MEA EV
“ในวาระที่ MEA EV ครบรอบ 10 ปี อยากขอกราบเรียน/เรียนเชิญฝ่ายบริหาร พี่ ๆ น้อง ๆ เพื่อนพนักงาน MEA ทุกท่าน มาร่วมกันพัฒนา MEA EV มุ่งสู่ New Business เพื่อรับมือกระแสการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานในยุค Disruptive Technology เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยกันครับ”
“EV อีกหนึ่งหนทางช่วยโลกใบนี้ให้ยั่งยืน”
นายรังสรรค์ เศรษฐวงศ์
ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม
เมื่อเอ่ยถึง EV ต้องนึกถึงพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม งานนี้ นายรังสรรค์ เศรษฐวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม มองว่าเป็นเรื่องดีที่ MEA ให้ความสำคัญกับยานยนต์ไฟฟ้ามานานกว่า 10 ปี เพราะนับจากนี้ไปจะเป็นขาลงของเชื้อเพลิงฟอสซิลที่กำลังจะถูกแทนที่ด้วยพลังงานสะอาดในเร็ว ๆ นี้
“เชื่อไหมครับว่า ไทยเราเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่ถูกจัดอยู่ใน 20 ประเทศแรกที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดในโลก ซึ่งก๊าซเรือนกระจกประกอบด้วยกลุ่มก๊าซหลายชนิด เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ฯลฯ โดยก๊าซเรือนกระจกที่ว่ามาจากสองส่วนหลัก ๆ หนึ่งคือ ภาคการเกษตรและปศุสัตว์ สองคือ ภาคขนส่งและพลังงาน ซึ่งส่วนหลังนี้ก่อก๊าซเรือนกระจกมากถึง 40% โดยวิธีคำนวณง่าย ๆ คือหากเราขับรถใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 1 ลิตร จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 2.6 กิโลกรัม แต่หากเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า การใช้ไฟฟ้า 1 หน่วยจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 0.56 กิโลกรัม ด้วยเหตุนี้การเปลี่ยนมาใช้ EV จึงน่าสนใจ เพราะนอกจากจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้แล้วยังประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะค่าไฟถูกกว่าค่าน้ำมันมาก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในอนาคต EV จะเข้ามาแทนที่รถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงแบบเดิม”
“ในประเทศไทย กระแสการใช้ EV ถูกกระตุ้นด้วยการเข้าร่วมประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ซึ่งคาดการณ์ว่าหากทั่วโลกยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องเหมือนเดิม ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้น 1.5 องศา ซึ่งจะส่งผลมหาศาลต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกของเรา ฉะนั้นสมาชิกกว่า 200 ประเทศรวมถึงประเทศไทยจึงลงนามในข้อตกลงลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อควบคุมปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 นำมาสู่มาตรการทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รวมถึงการชูประเด็น EV จนประชาชนเริ่มหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้น และคาดว่าจะตามด้วยพลังงานทดแทนอย่าง Solar Rooftop ซึ่ง MEA ก็ได้ดำเนินการมากว่า 10 ปีแล้วเช่นกัน”
“เมื่อกระแส EV เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายองค์กรก็เริ่มหันมาให้ความสนใจ รวมถึงผู้ประกอบการบริษัทน้ำมันที่มองเห็นแนวโน้มในอนาคตว่า เชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังจะถูกแทนที่ด้วยพลังงานสะอาด กอปรกับมาตรการของรัฐที่ประกาศเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน การหันมาจับธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ทั้ง EV และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจกว่า ในส่วนของ MEA เองก็ต้องรีบพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อตอบสนองนโยบายนี้ และเตรียมพร้อมเพื่อลงแข่งขันในตลาดใหม่”
10 ปี MEA EV
“10 ปีที่ผ่านมา นับเป็นความภูมิใจของทุกฝ่ายที่ได้ร่วมกันผลักดันจน MEA EV ก้าวมาถึงวันนี้ได้ แต่จากนี้ไปคู่แข่งมากมายและความท้าทายใหม่ ๆ กำลังรออยู่ เราต้องเรียนรู้ พัฒนา และก้าวไปด้วยกัน สำหรับมุมมองด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เราสนับสนุนและอยากให้พนักงานทุกคนช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว นอกจากจะหันมาใช้ EV ยังมีวิธีที่ช่วยองค์กรและโลกของเราได้ง่าย ๆ เพียงแค่เลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าให้มากขึ้น หรือ Car Pool ไปไหนไปด้วยกัน โดยเฉพาะการไปประชุม จะช่วยให้บริหารทรัพยากรได้ดี ลดค่าใช้จ่ายขององค์กร และลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เยอะเลยครับ”
Commentaires