top of page
Writer's picturePrakai Team

District CEO เสริมความแกร่ง พัฒนาธุรกิจ ยกระดับ Smart Service, Smart Distribution





ก่อนหน้านี้ธุรกิจพลังงานอาจถูกมองเป็นตลาดน่านน้ำสีฟ้า หรือ Blue Ocean ที่มีผู้แข่งขันน้อยราย ในขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคสูงลิ่ว ทว่าเมื่อโลกพัฒนารุดหน้า จากผืนน้ำที่เคยเป็นสีฟ้าก็เริ่มแทรกซึมด้วยสีแดง พร้อมกับบรรดาผู้แข่งขันหน้าใหม่และช่องทางการผลิตพลังงานที่หลากหลายขึ้น MEA ในฐานะผู้ให้บริการพลังงานหลักของเมืองหลวง จึงต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยมี District CEO เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่จะติดอาวุธให้การไฟฟ้านครหลวงเขตทั้ง 18 เขต เป็นหน่วยธุรกิจที่ดูแลตัวเองได้และช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ MEA ไม่หวั่นต่อการแข่งขันที่จะท้าทายยิ่งขึ้นในอนาคต



ต่อยอดแนวคิดและวิสัยทัศน์ Challenge to the Future

สำหรับคนที่เพิ่งได้ยินคำว่า District CEO เป็นครั้งแรก นายชนะ แววบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานกลาง การไฟฟ้านครหลวงเขต หรือ ฝบก. ให้ข้อมูลถึงที่มาที่ไปของนโยบายนี้ว่า ต่อยอดมาจากวิสัยทัศน์ของ นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA คนล่าสุด ซึ่งจุดประกายมาจากเมื่อครั้งที่ท่านยังดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าการบริการระบบจำหน่าย และมองเห็นว่าการไฟฟ้านครหลวงเขตนั้น มีการบริหารงานแบบทางเดียว คือรับนโยบายมาดำเนินการ โดยมองข้ามมุมมองด้านธุรกิจไป ดังนั้นจึงอยากยกระดับให้มีการบริหารงานแบบธุรกิจมากขึ้น โดยได้กำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ด้านการตลาดและลูกค้า ประจำปี 2564-2565


“นโยบายนี้เชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ของผู้ว่าการและทีมผู้บริหารระดับสูง ที่มุ่งยกระดับวิถีชีวิตเมืองมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์คือต้องการบริหารจัดการการไฟฟ้านครหลวงเขตทั้ง 18 เขต ให้เป็นไปในรูปแบบ Business Model เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ในอนาคต ตามแนวคิด MEA Challenge to the Future ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ต้องเตรียมการและปรับกระบวนคิดของผู้อำนวยการเขตแต่ละเขตให้มีมุมมองในเชิงธุรกิจมากขึ้น คือต้องมองว่าตัวเองเป็นเจ้าของกิจการ และมองทิศทางของหน่วยงานในอนาคตให้ออก นั่นคือวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ครับ” ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานกลางฯ อธิบายถึงภาพรวมของนโยบาย District CEO



4 เครื่องมือสำคัญ พัฒนาเป็น Business Model

เมื่อถูกบรรจุลงในแผนยุทธศาสตร์ด้านการตลาดและลูกค้า ประจำปี 2564-2565 นโยบายนี้จึงเริ่มดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยนายชนะ กล่าวว่า เริ่มต้นจากการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้อำนวยการไฟฟ้าเขตทั้ง 18 เขต มีองค์ความรู้ที่เหมาะสม ผ่านการศึกษาเรียนรู้จากกูรูที่เป็นนักธุรกิจชั้นแนวหน้าของประเทศ ตลอดจนเวิร์กชอปสร้างมุมมองในเชิงธุรกิจ จากนั้นจึงดำเนินการบริหารงานให้บรรลุผลใน 4 ด้าน ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจไฟฟ้าและพลังงาน นั่นคือ ด้านระบบไฟฟ้า ด้านการตลาด ด้านการบริการ และด้านการเพิ่มผลผลิต



ด้านระบบไฟฟ้า มีตัวชี้วัดความสำเร็จคือค่า SAIFI หรือค่าเฉลี่ยความถี่ที่ระบบเกิดไฟฟ้าขัดข้อง และค่า SAIDI หรือค่าเฉลี่ยระยะเวลาที่ระบบเกิดไฟฟ้าขัดข้อง นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในเรื่องของการคลีนสายป้อน โดยนโยบาย District CEO นี้เจาะจงให้แต่ละเขตเลือกสายป้อนที่เคยเกิดเหตุไฟฟ้าดับมากที่สุด 10 สายป้อน มากำหนดผู้รับผิดชอบเป็น Feeder Manager ดูแลสายป้อนเหล่านั้นอย่างเข้มข้น เพื่อลดปริมาณการเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ลงให้น้อยที่สุด



ด้านการตลาด เป็นไปในลักษณะของการประเมินความพึงพอใจในบริการและคุณภาพของระบบไฟฟ้า ซึ่งในด้านของระบบไฟฟ้าได้กำหนดให้สถาบันภายนอกเข้ามาประเมินว่า ภาพรวมของระบบไฟฟ้าและคุณภาพการให้บริการของแต่ละเขตเป็นอย่างไร รวมถึงพิจารณาการตอบสนองหรือแก้ไขปัญหาจากข้อร้องเรียนต่าง ๆ ด้วย



ด้านการบริการ เน้นไปที่การพัฒนาเรื่องจุดสัมผัส หรือ Touch Point โดยใช้เกณฑ์การประเมินของศูนย์ราชการสะดวก (GECC) มาเป็นตัวชี้วัด ซึ่งหลังจากดำเนินการในปี 2564 ส่งผลให้ทั้งการไฟฟ้านครหลวงเขต 18 เขต ผ่านการประเมินทั้งหมด โดยมี 2 เขต ได้รับการรับรองในระดับซิลเวอร์ คือ การไฟฟ้านครหลวง เขตสมุทรปราการและบางใหญ่


ด้านการเพิ่มผลผลิต เป็นด้านสุดท้าย ที่เป็นเป้าหมายสำคัญของทุกเขต ที่จะต้องเพิ่มหน่วยจำหน่าย เพิ่มยอดขาย เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา รวมถึงต้องบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในส่วนที่ควบคุมได้ อาทิ อุปกรณ์ เครื่องใช้สำนักงาน ค่าน้ำมันรถ การทำงานล่วงเวลา ฯลฯ นอกจากนี้ ยังต้องพยายามลดระยะเวลาการจัดเก็บหนี้ภาคเอกชน ซึ่งสะสมมาในช่วงวิกฤต COVID-19 ให้ได้ เพื่อให้การเก็บค่าใช้ไฟฟ้าตรงตามรอบปัจจุบัน อันจะเพิ่มสภาพคล่องให้กับองค์กรมากขึ้น


“นี่คือการประเมินทั้ง 4 ด้านที่ District CEO ต้องดำเนินการและวัดผล ซึ่งนับเป็นความท้าทายของ ผอฟข. ทั้ง 18 ท่าน ที่อาจจะต้องเหนื่อยกันมากขึ้น แต่ผมเชื่อว่าผลลัพธ์ที่ได้จะนำมาซึ่งความยินดีและภาคภูมิใจครับ” นายชนะกล่าว



ปรับมุมมอง เปลี่ยนระบบคิด จาก ผอฟข. สู่ CEO

เมื่อพิจารณาจากการทำงานที่ผ่านมา นายชนะมองว่า การไฟฟ้านครหลวง ทั้ง 18 เขต ก็มีการบริหารจัดการที่ดีอยู่แล้ว แต่นโยบาย District CEO นี้จะช่วยเติมเครื่องมือ เพิ่มมุมมอง ให้ผู้นำหน่วยงานมีความเป็นผู้บริหารแบบ CEO มากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าการจะเป็น District CEO ได้นั้น ผู้อำนวยการไฟฟ้าเขตทั้ง 18 ท่านต้องปรับเปลี่ยนตัวเองไม่น้อยเลย โดยนายชนะเผยถึงกระบวนการปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นว่า


“ผู้อำนวยการไฟฟ้าเขต จะต้องปรับเปลี่ยนมุมมองการบริหารจัดการให้เป็นในเชิงของการบริหารธุรกิจมากขึ้น โดยมองตัวเองเป็นเจ้าของกิจการที่ต้องทราบผลประกอบการ ทราบถึงกิจกรรมที่หน่วยงานปฏิบัติ แล้วบริหารจัดการให้ได้ผลลัพธ์ออกมาตามเป้าหมาย จากนั้นจะมีการเปรียบเทียบหาโมเดลที่ดี เพื่อนำมาเป็นต้นแบบหรือ Best Practice ให้เขตอื่น ๆ นำไปเป็นตัวอย่างในโอกาสต่อไป และไม่ใช่แค่ผู้นำเท่านั้นที่ต้องปรับตัว พนักงานในการไฟฟ้านครหลวงเขตทุกคนก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วย ไม่ว่าจะเป็น กองบริการผู้ใช้ไฟฟ้า กองบริการการจำหน่าย กองรายได้ ต้องดำเนินงานตามผู้อำนวยการไฟฟ้าเขต หรือ CEO ที่ถ่ายทอดตัวชี้วัดต่าง ๆ ลงไปในแต่ละระดับ โดยนำการประเมินผลทั้ง 4 ด้าน มาเป็นหลักในการทำงาน และต้องมีการติดตามผลทุกเดือน” ซึ่งนอกจากการปรับตัวของผู้นำและพนักงานแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือการให้ข้อมูลความรู้เพื่อปรับ Mindset ให้ทุกคนเข้าใจกันมากขึ้น โดยต้องมองเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในเชิงธุรกิจ



“หากอ้างอิงจากการแถลงนโยบายของผู้ว่าการ MEA ซึ่งระบุว่าแต่ละสายงานต้องมี Outcome หรือผลลัพธ์ให้เห็นอย่างชัดเจน โดยผลลัพธ์ของสายงานรองผู้ว่าการบริการระบบจำหน่าย คือ Smart Service และ Smart Distribution ในส่วนของ Smart Service คือการทำให้บริการของทั้ง 18 เขต สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย ตอบสนองความต้องการ และไม่เลือกปฏิบัติ ส่วน Smart Distribution คือระบบจำหน่ายไฟฟ้าจะต้องมีความมั่นคง เพียงพอ เชื่อถือได้ และสำคัญที่สุดคือต้องปลอดภัยด้วย ผมมองว่าด้วยการทำงานที่ผ่านมา คนของทุกเขตล้วนมุ่งมั่นให้บริการลูกค้าอย่างดีและเต็มที่ที่สุดอยู่แล้ว ฉะนั้นการดำเนินงานของแต่ละเขต จึงน่าจะได้ผลลัพธ์ในด้านของ Smart Service และ Smart Distribution ตามที่ผู้ว่าการได้กำหนดกรอบไว้ ส่วนนโยบาย District CEO ที่มีการวัดผลเชิงธุรกิจ ไม่น่าจะสร้างความหนักใจให้กับหัวหน้าหน่วยงานและคนทำงาน แต่จะเป็นการเติมเครื่องมือให้ผู้อำนวยการไฟฟ้าเขตนำทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพและวัดผลได้ดีขึ้นมากกว่า” ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงาน กลางฯ กล่าวเสริม



ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า สร้างคุณค่าแก่ MEA

ทั้งนี้ จากการติดตามผลทุกเดือน ทั้งรายงานในระดับสายงานและรายงานต่อผู้บริหารระดับสูง ผลการดำเนินการมีความคืบหน้าอย่างมาก แต่ละเขตมุ่งพัฒนา District CEO อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในด้านของระบบไฟฟ้าที่ไม่เพียงกำหนด Feeder Manager ใน 10 สายป้อนหลัก ทุกเขตยังวางตัว Feeder Manager ให้กับสายป้อนอื่น ๆ ครบทุกสายในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละเขต ส่วนด้านการตลาด เห็นความก้าวหน้าอย่างชัดเจนในการส่งเสริมเรื่อง MEA e-Bill รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานบริการ มุ่งสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล ตามนโยบายของผู้ว่าการที่เน้นให้บริการได้ทุกที่ทุกเวลา นับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทุกเขตต่างพัฒนาตัวเองแบบก้าวกระโดด


เมื่อถามถึงประโยชน์ของนโยบาย District CEO ในภาพใหญ่ องค์กร มองว่านโยบายนี้จะตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างตรงจุด เพราะจะทำให้ได้รับคุณภาพไฟฟ้าที่ดีขึ้น มีเหตุไฟฟ้าดับน้อยลง มีระยะเวลาไฟฟ้าดับที่สั้นลงที่สุด ทั้งยังเข้าถึงบริการได้สะดวก รวดเร็ว ผ่านหลาย ๆ ช่องทาง สำหรับประโยชน์ต่อองค์กร คือการลดต้นทุนลงได้จากการบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้สภาพคล่องดีขึ้นด้วยการจัดเก็บค่าใช้ไฟฟ้าที่ทันท่วงทีและจัดเก็บรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังช่วยให้ภาพลักษณ์ขององค์กรดีขึ้น เพราะหากสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าได้ ก็จะลดข้อร้องเรียนต่าง ๆ ลง ความเชื่อมั่นที่ลูกค้ามีต่อ MEA ก็จะเพิ่มขึ้นตาม เรียกได้ว่านโยบาย District CEO จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากมายเลยทีเดียว

513 views

Commentaires


bottom of page