top of page
  • Writer's pictureนางสาวอัจฉราภรณ์ อุ่นสกุล

MEA ห่วงใย แนะนำท่องเที่ยวช่วงปีใหม่อย่างปลอดภัย



ใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า 2565 ต้อนรับปีใหม่ 2566 แล้ว หลายคนคงรีบตรวจปฏิทินมองหา “วันหยุด” เพื่อจะได้เตรียมวางแผนท่องเที่ยว หรือเดินทางกลับบ้าน ในช่วงเทศกาลแห่งความสุขที่จะได้กลับไปเจอหน้าครอบครัวอันเป็นที่รักแล้วพักร่างกายและจิตใจให้ผ่อนคลาย ก่อนกลับมาลุยงานกันต่อในปีหน้า MEA หรือ การไฟฟ้านครหลวง มีความห่วงใยในความปลอดภัย จึงมีข้อแนะนำท่องเที่ยวช่วงปีใหม่อย่างปลอดภัย เพื่อดูแลระบบไฟฟ้าภายในบ้านในช่วงที่ไม่ได้อยู่บ้านเป็นเวลานาน ๆ และแนะนำการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ด้วยความปลอดภัย หลายคนคงเคยได้ยินกันมาพอสมควรว่า “ไฟฟ้าลัดวงจร” เป็นสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ภายในบ้าน แล้วไฟฟ้าลัดวงจรเป็นสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ภายในบ้านได้อย่างไร เราจะมีวิธีการป้องกันอย่างไร เพื่อให้บ้านเราปลอดภัยและเราเดินทางไปพักผ่อนอย่างสบายใจ บทความนี้เรามีคำแนะนำดี ๆ มาฝากกัน


ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า

ไฟฟ้าลัดวงจรเป็นสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ภายในบ้านได้อย่างไร

ไฟฟ้าลัดวงจร (Short Circuit) คือ การไหลของกระแสไฟฟ้าที่ไหลครบวงจร จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง และมีความต่างศักย์ทางไฟฟ้าต่างกัน ที่อยู่นอกวงจรไฟฟ้าตามปกติ โดยไม่ผ่านโหลดหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยแบ่งไฟฟ้าลัดวงจรออกเป็น 2 แบบ คือ 1) ลัดวงจรจากสายไฟเส้นหนึ่งไปยังสายไฟอีกเส้นหนึ่ง และ 2) ลัดวงจรจากสายไฟลงดิน ทั้งนี้องค์ประกอบของการเกิดเพลิงไหม้มี 3 องค์ประกอบ ด้วยกัน คือ เชื้อเพลิง ก๊าซออกซิเจน และความร้อนหรือประกายไฟ มารวมกันด้วยอัตราส่วนเหมาะสมพอดี มีปริมาณเพียงพอต่อการเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ (Chain Reaction) ซึ่งไฟฟ้าลัดวงจรก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดความร้อนหรือประกายไฟได้

ภาพที่ 1 แสดงองค์ประกอบของการเกิดเพลิงไหม้ (Fire Triangle)


เมื่อความร้อนมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะทำให้ฉนวนของสายไฟฟ้าเกิดการหลอมละลาย กลายเป็นแหล่งเชื้อเพลิงและเกิดเพลิงไหม้ได้นั่นเอง ดังนั้นหลักการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเพลิงไหม้คือเราต้องตัดองค์ประกอบอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างของการเกิดไฟออกไป ซึ่งโดยปกติระบบไฟฟ้าภายในบ้านจะมีอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ได้แก่ เซอร์กิตเบรกเกอร์หรือฟิวส์ เป็นอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรและกระแสไฟฟ้าเกิน และมีเครื่องตัดไฟรั่ว เป็นอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าดูด ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะทำหน้าที่ปลดวงจรไฟฟ้าออก แต่ถ้าอุปกรณ์ป้องกันดังกล่าวไม่ทำงาน หากเกิดไฟฟ้าลัดวงจรหรือกระแสไฟฟ้าเกินจะทำให้เกิดความร้อนหรือประกายไฟ นำไปสู่การเกิดเพลิงไหม้ จากสาเหตุข้างต้น สามารถป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ได้ด้วยวิธีดูแลระบบไฟฟ้าภายในบ้าน ดังนี้






ภาพที่ 2 แสดงตู้เมนสวิตช์ที่มีเซอร์กิตเบรกเกอร์ของวงจรไฟฟ้าย่อยพร้อมป้ายชื่อ

แสดงวงจรการจ่ายไฟ และเครื่องตัดไฟรั่ว


อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านที่มีหน้าที่ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรต้องผ่านการทดสอบตามมาตรฐานดังนี้ เซอร์กิตเบรกเกอร์ที่ใช้กับกระแสไฟสลับในสถานที่อยู่อาศัยหรือสถานที่คล้ายคลึงกัน พิกัดไม่เกิน 125 แอมแปร์ ให้เป็นไปตาม IEC 60898-1 หรือ มอก. 60898-1 กรณีพิกัดกระแสเกิน 125 แอมแปร์ ให้เป็นไปตาม IEC 60947-2


เครื่องตัดไฟรั่ว (Residual Current Device หรือ RCD) ใช้ป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าดูด สำหรับแรงดันไม่เกิน 440 โวลต์ ในบ้านอยู่อาศัยหรือสถานที่คล้ายคลึงกันนั้น ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน มอก. หรือ มาตรฐาน IEC ที่เกี่ยวข้อง โดยมีคุณสมบัติที่สำคัญโดยย่อ ดังต่อไปนี้

  • มอก. 909 เครื่องตัดวงจรกระแสเหลือแบบมีอุปกรณ์ป้องกันกระแสเกิน (RCBO หรือ Residual Current Circuit Breakers with Overload protection) สำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและใช้ในลักษณะที่คล้ายกัน หรือ IEC 61009-1

  • มอก. 2425 เครื่องตัดวงจรใช้กระแสเหลือแบบไม่มีอุปกรณ์ป้องกันกระแสเกิน (RCCB หรือ Residual Current Circuit Breaker) สำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและใช้ในลักษณะที่คล้ายกัน หรือ IEC 61008-1

  • มอก. 2908 เครื่องตัดวงจรกระแสเหลือแบบมีหรือไม่มีอุปกรณ์ป้องกันกระแสเกินสำหรับเต้ารับที่ใช้ในที่อยู่อาศัยและการใช้ในลักษณะที่คล้ายกัน (SRCD หรือ Socket-Outlet Residual Current Devices) หรือ IEC 62640

ซึ่งเครื่องตัดไฟรั่วต้องมีพิกัดกระแสไฟฟ้ารั่วไม่เกิน 30 มิลลิแอมป์ และมีช่วงระยะเวลาในการตัด ไม่เกิน 0.04 วินาที และต้องติดตั้งคู่กับสายดิน เพราะสายดินจะช่วยนำไฟฟ้าที่รั่ว ไหลลงดินโดยไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อคนที่สัมผัส การเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีคุณภาพ หรือได้รับมาตรฐาน ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพื่อให้มั่นใจได้ว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้เลือกมา มีความทนทาน แข็งแรง และปลอดภัยที่จะใช้งาน


แนะนำการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่

ด้วยความปลอดภัย



เทศกาลรื่นเริงในวันปีใหม่ โดยส่วนใหญ่กิจกรรมที่จะต้องมีการจัดขึ้น เพื่อความสนุกสนานและมีการติดตั้งระบบไฟฟ้าใช้งานชั่วคราวภายในงานนี้ เช่น การเดินสายไฟฟ้าเพื่อติดตั้งไฟส่องสว่าง ไฟประดับ ที่จะมีการติดตั้งอยู่จุดต่าง ๆ ตามสถานที่ท่องเที่ยว การเดินสายไฟฟ้าเพื่อติดตั้งเต้ารับตามเต็นท์ตลาดขายสินค้า และการท่องเที่ยวนอนกางเต็นท์ ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ จะมีความเสี่ยงที่แฝงอยู่ ที่อาจจะทำให้ได้รับอันตรายจากการถูกไฟฟ้าดูด จากกระแสไฟฟ้ารั่ว และเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีสาเหตุมาจาก การติดตั้งระบบไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าเสื่อมสภาพ หรือว่าในจุดที่บุคคลไปสัมผัส คาดไม่ถึงว่า จะมีกระแสไฟฟ้ารั่วอยู่ในบริเวณนั้นเอง


เพราะหากสังเกตดูจะพบว่า ลักษณะการเดินสายไฟฟ้าใช้งานชั่วคราว จะมีการยึดโยงไปกับโครงโลหะต่าง ๆ ซึ่งมีความเสี่ยง ที่อาจจะทำให้ฉนวนของสายไฟฟ้าชำรุดได้ ไม่ว่าจะเกิดจากแรงกระทำจากภายนอก การขูดขีดระหว่างติดตั้ง หรือแรงกระแทกกดทับ จากวัสดุสิ่งของต่าง ๆ ก็ตาม หากมีกระแสไฟฟ้ารั่วไปยังบริเวณโครงโลหะที่จุดใด ๆ ก็อาจจะทำให้กระแสไฟฟ้ารั่วไปทั่วบริเวณโครงโลหะ ซึ่งจุดที่บุคคลไปสัมผัส ก็อาจจะมองไม่เห็นสายไฟฟ้า คือไม่คิดว่าจะมีไฟฟ้ารั่วอยู่ที่บริเวณจุดนั้น


ในบทความนี้ MEA มีข้อแนะนำการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่

ด้วยความปลอดภัยมาฝากกัน ดังนี้

  1. เป็นวิธีป้องกันตนเองจากการถูกไฟฟ้าดูด จากกระแสไฟฟ้ารั่วแบบง่าย ๆ นั่นก็คือเราจะต้องสังเกตและหลีกเลี่ยงการสัมผัส ส่วนที่เป็นโลหะต่าง ๆ ที่อยู่ภายในงาน เช่น บริเวณเสาโลหะไฟส่องสว่าง เสาโลหะไฟประดับ บริเวณรั้วที่เป็นโลหะ และโครงสร้างโลหะต่าง ๆ ของเต็นท์ ซึ่งต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะขณะที่มือ หรือร่างกายเปียกน้ำ เพราะจะทำให้ความรุนแรงของการถูกไฟฟ้าดูดมากขึ้น เพราะค่าความต้านทานในร่างกายลดต่ำลง ซึ่งเป็นผลให้เกิดกระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายได้มากยิ่งขึ้น

  2. ผู้ประกอบกิจการต้องติดตั้งระบบไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน เหมาะสมกับไฟชั่วคราวภายนอกอาคาร ก็คือ การติดตั้งเต้ารับ อุปกรณ์ไฟฟ้า ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรและกระแสไฟฟ้าเกิน (เซอร์กิตเบรกเกอร์) มีสายดิน และ เครื่องตัดไฟรั่ว หรือ RCD พิกัดไม่เกิน 30 mA และเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน มอก. ด้วย


การเลือกชนิดของสายไฟฟ้าให้เหมาะสมกับการใช้งานภายนอกอาคาร ส่วนนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน ต้องเลือกใช้ สายที่มีเปลือกหุ้ม (Sheath) เพื่อป้องกันอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งตามลักษณะโครงสร้างสายไฟฟ้าจะประกอบไปด้วยตัวนำทองแดง และจะหุ้มทับด้วยฉนวน และสายที่แนะนำนี้ จะเป็นลักษณะสายที่มีเปลือกหุ้มฉนวนอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันแรงกระทำจากภายนอก เช่น สายไฟฟ้า VCT ที่สามารถต่อเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ได้และเพื่อความปลอดภัยป้องกันการสัมผัสโดยตรง ควรติดตั้งสายไฟฟ้าให้อยู่ในระยะที่เอื้อมไม่ถึง ซึ่งมาตรฐานทั่วไปแนะนำให้ติดตั้งที่ความสูงจากพื้น 2.4 เมตร ขึ้นไป และแนวระนาบ 1.5 เมตร หลีกเลี่ยงการวางสายไฟฟ้าบนพื้นถนน บริเวณทางคนเดินผ่าน ทางรถวิ่งผ่าน ซึ่งอาจทำให้สายถูกเหยียบ ถูกกดทับเสียหายได้ ในส่วนของจุดต่อสายไฟฟ้าต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน ต้องทำด้วยความระมัดระวัง โดยต้องมีความคงทนแข็งแรง ป้องกันไฟรั่ว ป้องกันบุคคลมาสัมผัสได้ ต้องติดตั้งในกล่องต่อสายไฟ (Junction Box) หลีกเลี่ยงไม่ให้จุดต่อสายไฟฟ้าสัมผัสน้ำหรือแช่ในน้ำ



ภาพที่ 3 แสดงโครงสร้างของสายไฟฟ้า VCT


การท่องเที่ยวช่วงเทศกาลปีใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ COVID-19 ที่ยังไม่น่าไว้วางใจ โรคระบาด เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย การวางแผนเตรียมพร้อม และศึกษาเส้นทางที่จะเดินทาง เพื่อเลือกเส้นทางที่ปลอดภัย เป็นการป้องกันอุบัติเหตุจากการเดินทางได้อีกทางหนึ่ง เตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและเต็มที่ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มของมึนเมา หรือกินยาแก้แพ้ที่อาจทำให้เกิดอาการง่วงในระหว่างการเดินทางเพราะอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ มองหาสถานที่เที่ยวที่ใหม่ ๆ เพื่อลดความแออัดและควรเลือกที่พักที่มีระบบรักษาความปลอดภัย มั่นใจว่าที่พักเหมาะสมกับคุณ


ในการเดินทางท่องเที่ยวสำหรับใครหลายคนอาจจะมองเป็นเรื่องไม่ยาก แต่ก็ควรให้ความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมให้รอบด้านด้วย หากมีการเตรียมพร้อมที่ดีแล้ว ก็จะทำให้การเดินทางพักผ่อนของคุณสนุกและปลอดภัย











อ้างอิงข้อมูลจาก

1. คู่มือการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย MEA

2. หนังสือมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย พ.ศ. 2564 วสท.

33 views

Comments


bottom of page