top of page
Writer's picturePrakai Team

MEA Data-Driven MEA ก้าวไกล...ด้วย DATA

โลกทุกวันนี้หมุนเร็ว ทุก ๆ วินาที ทุกลมหายใจเข้าและออก เต็มไปด้วยข้อมูลจำนวนมากมายมหาศาล ณ ปัจจุบัน Data ยังกลายมาเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่ทำการตลาด งานบริการ ตลอดจนถึงการบริหารองค์กร Data ยังมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจให้แม่นยำมากขึ้น เปรียบเสมือนการเดินทางโดยมีแผนที่บอกทาง และมันกำลังจะเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเราทุกคนให้อาศัยอยู่บนโลกที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

เพื่อให้องค์กรอันเป็นที่รักของพวกเราเป็นผู้ชนะโลกแห่งการแข่งขันนี้ ทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้ เข้าใจ รู้จัก และรู้วิธีนำ Data ไปใช้ในการปฏิบัติงานจริง จากเหล่านักวิทยาศาสตร์ข้อมูลของ MEA และนำพาองค์กรไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน



DATA ENGINEER รุ่นบุกเบิกพลังขับเคลื่อนใหม่ขององค์กร


อาร์ม-ธนา ตั้งก่อเจริญ ต้น-สุสิระ ชนะสิทธิ์

นักประมวลผลข้อมูล 7 นักประมวลผลข้อมูล 6

ฝ่ายพัฒนาระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ฝ่ายพัฒนาระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศ



DATA ENGINEER หรือ DE อีกหนึ่งหลักสูตรน้องใหม่ที่ทาง MEA จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับพนักงานทุกคน แต่แน่นอนว่ากว่าจะมาเป็นนักศึกษารุ่นแรกของหลักสูตรนี้ ต้องผ่านด่านการทดสอบกันก่อนนะ เรียกว่าต้องระดับหัวกะทิ ที่เข้มข้นเชียวละ


แล้ววันนี้ อาร์ม-ธนา ตั้งก่อเจริญ นักประมวลผลข้อมูล 7 และ ต้น-สุสิระ ชนะสิทธิ์ นักประมวลผลข้อมูล 6 จากฝ่ายพัฒนาระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศ หัวกะทิระดับแชมเปี้ยนสุดยอด DE ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการนำเสนอโครงการ “Customer Financial Data Collection” ก็จะมาเล่าให้เราฟังว่า เส้นทางในฐานะนักเรียนรุ่นบุกเบิกของ DE ที่กว่าจะเรียนสำเร็จ และนำผลงานคว้ารางวัลมาได้นั้น พวกเขามีจุดเริ่มต้นกันที่ตรงไหน...


“สำหรับผมส่วนหนึ่งมันมาจากงานที่เราทำกันอยู่แล้วครับ คือพวกข้อมูลต่าง ๆ อย่างในงานของผม ก็จะเป็นข้อมูลในการรับชำระทั้งหมด และข้อมูลที่เกี่ยวกับลูกค้าทั้งหมด ดังนั้น พอมีโครงการที่จะมายกระดับการทำข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจในการจะเข้าไปเรียน”


เพราะความมุ่งหวังที่จะพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน คือ แรงบันดาลใจหลักของต้น ที่ก้าวมาสู่การเป็น DE ซึ่งก็ไม่ต่างจากหนุ่มอาร์ม สักเท่าไรนัก


“ผมทราบข่าวจากทาง ฝ่ายฝึกอบรม (ฝอร.) ว่าจะมีการเปิดหลักสูตร Data Scientist (DS) และ Data Analyst (DA) เป็นรุ่น 2 และจะเปิดหลักสูตร DE เป็นรุ่นแรก ทางพวกผมซึ่งจากงานที่รับผิดชอบ จะเป็นการดูแลทางด้านข้อมูลอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นหลักสูตรที่มันตรงจริง ๆ และคิดว่าเป็นประโยชน์กับการทำงาน ก็น่าจะเป็นหลักสูตร DE นี่ละครับ ก็เลยเลือกลงหลักสูตรนี้กันครับ”


หลายคนอาจจะยังนึกภาพไม่ออกว่า หลักสูตร Data Engineer หรือที่เรียกว่า DE นี้ เขาเข้าไปเรียนอะไรกัน แล้วเราจะได้รับความรู้อะไรจากหลักสูตรนี้ งานนี้หนุ่มอาร์มอาสาชี้แจงให้เราฟัง


“สำหรับผมเนื่องจากปีที่แล้วก็ลงหลักสูตร DA ไป ดังนั้น DE ก็จะเหมือนเป็นการต่อยอดจากสิ่งที่เราเรียนไป DE จะโฟกัสที่การนำข้อมูลที่เรามีอยู่ในระบบระบบหนึ่ง ออกมาเพื่อทำการตรวจสอบความถูกต้อง และจัดข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม พร้อมใช้งาน ส่งต่อไปยัง DATA LAKE ซึ่งเปรียบเสมือนถังข้อมูลกลางขององค์กรให้หน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาหยิบไปใช้งานได้ การเข้ามาเรียนในหลักสูตร DE ของเรานี้ มันจะทำให้เรารู้ถึงวิธีการเตรียมพร้อมข้อมูลเหล่านี้ให้กับ USER ใช้งาน โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องร้องขอเข้ามาที่เราซึ่งข้อมูลเหล่านี้มันจะอัปเดตอยู่ตลอดเวลา มีความถูกต้อง สดใหม่อยู่เสมอครับ อันนี้ก็คือหลัก ๆ ของหลักสูตร DE ว่ามันทำอะไร”


พอเรียนจนความรู้เริ่มแน่น คราวนี้ก็ต้องถึงขั้นตอนการทำโปรเจกต์แล้วละ เชื่อว่าเพื่อน ๆ ส่วนใหญ่คงอยากรู้แล้วว่า แรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้เขาทั้งสองคนเลือกที่จะทำโครงการ “Customer Financial Data Collection”


“ตอนแรกที่เราเริ่มทำโครงการ มันจะมีโจทย์มา ซึ่งมันเป็นงานที่เราต้องทำอยู่แล้ว หลาย ๆ หน่วยงานจะมาขอข้อมูลลูกค้ามาทางฝ่ายเรา ซึ่งมันจะเยอะมาก ๆ เราก็เลยนำโจทย์ที่เราจำเป็นจะต้องใช้งานจริง ๆ มาทำเป็นโครงการของเราก่อน เพราะเราอยู่กับมันและสัมผัสมันจริง ๆ ว่าที่เขาขอข้อมูลไป มันมีจุดอ่อนอะไรบ้าง แล้วมันมีอะไรในโครงการที่เราจะทำไปช่วยเสริมหรือไปทดแทนจุดอ่อนเหล่านั้นได้


เราก็เลยเกิดแนวความคิดขึ้นมาว่า ถ้าเรานำข้อมูลลูกค้า ที่เป็นหัวใจหลักของการบริการ ก็จะมี ข้อมูลการวางบิลการใช้งานของลูกค้า ข้อมูลการชำระเงิน หรือ Payment ข้อมูลหลักประกัน ข้อมูลใบเตือน ข้อมูลคิว ทั้งห้าข้อมูลนี้ มาทำให้เข้าถึงได้ง่ายมันจะเป็นประโยชน์ทั้งกับตัวเราเอง ที่จะช่วยลดปริมาณงานที่จะเข้ามา และเป็นประโยชน์กับองค์กร ที่ทุกคนจะสามารถใช้ข้อมูลจากโครงการนี้ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น”


มาถึงตรงนี้ หนุ่มอาร์ม ขอเสริมรายละเอียดลงลึกไปถึงขั้นตอนการทำงานของโปรเจกต์พวกเขากัน


“สโคปของโปรเจกต์เรา เริ่มตั้งแต่การออกแบบกระบวนการ จัดเตรียมข้อมูล สำรวจความถูกต้องของข้อมูล ทำความสะอาดข้อมูล ให้ข้อมูลมันอยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้งาน และเชื่อมโยงข้อมูลบางส่วนที่มันอยู่คนละ Table กัน อยู่คนละกลุ่มกัน แต่ถ้ามันมีความเกี่ยวข้องกัน ก็จะเชื่อมโยงให้มันมาอยู่ด้วยกัน จากนั้นก็นำข้อมูลทั้งหมดส่งไปที่ DATA LAKE ถังข้อมูลหลักขององค์กรเพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถเข้ามาใช้ข้อมูลนี้ได้...


ซึ่งตอนนี้มันสามารถใช้งานได้จริงแล้ว แต่มันอาจจะมี Requirement ใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มเติมจาก USER ยกตัวอย่างง่าย ๆ โครงการของกลุ่ม DA และ DS เมื่อนำไปเสนอผู้บริหาร ทุกคนเห็นว่าโครงการนี้มีแววให้ทำต่อ พวกเขาก็ต้องมาขอข้อมูลเพิ่มเติมที่เรา หน้าที่ของเราคือ เราต้องไปแก้ตัวท่อของเรา ที่ส่งข้อมูลจากระบบ SAP ส่งไปที่ DATA LAKE ก็คือ ไปเพิ่มข้อมูลตามที่ DA หรือ DS ต้องการ เพื่อเขาจะได้มีข้อมูลพร้อมใช้งานในโครงการของเขา อันนี้คือ ระยะสั้นที่เริ่มทำไปแล้ว ส่วนในระยะยาว ต้องผลักดันให้ทุกหน่วยงานเข้ามาใช้งานที่ช่องทางนี้ ซึ่งอาจจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ออกไปให้ทุกหน่วยงานมาใช้ช่องทางนี้”


อะไรคือเหตุผลสำคัญที่โครงการนี้ชนะใจกรรมการ หนุ่มอาร์มตอบทันที ที่เราเอ่ยคำถามจบ


“ผมคิดว่า เราเริ่มต้นโครงการมาจาก Pain Point ของผู้ใช้งาน ซึ่งผู้ใช้งานที่เราพูดถึงก็คือ คนที่เรียนในหลักสูตร DA, DS และ DE นี่ละครับ ที่เขาไม่มีข้อมูลไปทำโครงการของเขา เพราะฉะนั้นเขาก็ขอข้อมูลมาที่ ฝพท. ซึ่งก็คือฝ่ายเรานี่เอง เราก็เลยเอาความต้องการที่จะใช้ข้อมูลของพวกเขามาทำเป็นโปรเจกต์ของเราเลย ก็คืองานโครงการ DE นี่ละ แล้วก็ Feed ข้อมูลจากระบบ SAP ส่งไปให้งานโครงการเหล่านี้ใช้งาน ดังนั้นการที่โปรเจกต์นี้สำเร็จมาอยู่จุดนี้ได้ อาจเป็นเพราะว่ามันถูกนำไปใช้งานจริง มันถูกนำไปใช้งานต่อ และใช้งานในระยะยาว คือมีการใช้งานต่อไปเรื่อย ๆ ในความคิดผมน่าจะเป็นเพราะเหตุผลนี้นะครับ”


ตลอดระยะเวลาการเรียนจนจบหลักสูตรไปจนถึงขั้นตอนการทำโปรเจกต์ พวกเขาทั้งสองต้องฝ่าฟันกับปัญหาที่เข้ามาท้าทายอยู่ตลอด นั่นอาจเป็นเพราะว่า พวกเขาคือนักเรียนรุ่นบุกเบิก รุ่นแรกของหลักสูตร Data Engineer หรือ DE ที่ทุกอย่างก็เลยดูเหมือนว่าจะ “ใหม่” ไปเสียทั้งหมด


“เนื่องจากเป็นหลักสูตรที่ค่อนข้างใหม่ เปิดปีนี้เป็นปีแรก เราก็ไม่รู้ว่าเราจะไปเรียนรู้การใช้เครื่องมืออะไรบ้าง เพราะฉะนั้น อันดับแรก เราก็ต้องเปิดใจยอมรับมัน เพราะว่าแต่ละเครื่องมือ มันก็จะมีจุดอ่อน จุดแข็ง เมื่อเราไปเรียนแล้ว เราก็ต้องเปิดใจ แล้วนำ Tools ที่เราไปเรียน รวมถึงวิธีการที่เราไปเรียน ไปปรับใช้งานร่วมกัน ทำให้ออกมาเป็นโปรเจกต์

ให้มันออกมาเป็นผลสุดท้ายให้ได้”


แต่สำหรับหนุ่มต้นแล้ว ความยากในการเรียนหลักสูตรนี้ น่าจะอยู่ที่ “เทคนิค” เป็นสำคัญ


“ที่ผมเจอ มันจะเป็นลักษณะเชิงเทคนิคครับ แล้วเราอยู่ในสถานการณ์ COVID-19 แบบนี้ คือถ้าปกติเราเรียนในห้องเรียนเราก็ยังยกมือถามอาจารย์ แต่พอมาเรียนออนไลน์ เราก็ต้องใช้การประสานงานที่มันเข้มข้นมากขึ้น


บางทีแก้ปัญหากันยันสองสามทุ่มเลย ถึงจะทำให้มันไหลลื่นไปได้ เพราะมันเป็นเรื่องของเครื่องมือใหม่ที่เรายังไม่มีประสบการณ์ เรื่องของการแนะนำเลยเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งเราแก้ไขได้ด้วยการประสานงานล้วน ๆ เลยครับ”


ในฐานะผู้ชนะเลิศโครงการ DE คู่แรกของหลักสูตร เราคงต้องขอเคล็ดลับและคำแนะนำดี ๆ ที่รุ่นพี่ส่งต่อรุ่นน้อง DE ในรุ่นต่อไปเป็นการทิ้งทายกันหน่อยล่ะเริ่มจากหนุ่มอาร์ม กันก่อนเลย


“ถ้าสำหรับหลักสูตร DE คนที่จะเข้ามาเรียน อาจจะต้องมีความรู้พื้นฐานทางด้านคอมพิวเตอร์และโปรแกรมมิ่งสักเล็กน้อยครับ แต่ถ้าไม่มีพื้นฐานมาก่อน ก็ไม่เป็นไรครับ แต่คงต้องขวนขวายเพิ่มมากขึ้นหน่อย เพราะในหลักสูตรก็มีสอน Basic Programming คือ คนไม่มีพื้นฐานก็อาจจะต้องใช้เวลากับมันมากขึ้นหน่อย ขยันมากขึ้นหน่อยครับ”


ส่วน ต้น ก็ขอปิดท้ายให้เรามองเห็นภาพความสำคัญของหลักสูตร DE หรือ Data Engineer กับการทำงานในยุค Data-Driven Organization (การขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูล) ได้อย่างคมชัด


“การทำ Data-Driven Organization ผมว่าทุกคนจำเป็นต้องเข้าใจพื้นฐานในการให้ข้อมูลขับเคลื่อนองค์กรก่อน แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ ที่จะให้ตัวเราเองสามารถมีความเข้าใจในตรงนั้นได้ ซึ่งผมว่าการเข้าเรียนหลักสูตรนี้ จะทำให้เราเข้าใจว่า สิ่งที่เรากำลังจะทำมันคือ การทำให้องค์กรเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันด้วยข้อมูลได้อย่างแท้จริง ดังนั้นเชียร์ให้ทุกคนเข้ามาเรียนครับ เพื่อที่เราจะได้ขับเคลื่อนไปด้วยกัน”


เราเชื่อเหลือเกินว่า จากความพยายามที่จะพัฒนาศักยภาพตนเองอย่างตั้งใจของสองหนุ่ม จะจุดประกายความมุ่งมั่นให้กับคนทำงานทุกคนได้ไม่น้อยทีเดียว

52 views

Comments


bottom of page