ในยุคที่ทุกแวดวงล้วนได้รับผลกระทบจาก Digital Disruption และ COVID-19 ได้ก่อกำเนิดธุรกิจบนโลกออนไลน์ขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นคือ ความบันเทิงผ่านอินเทอร์เน็ตที่เรียกกันว่าสตรีมมิง (Streaming) ซึ่งมีรายใหญ่อย่าง Netflix เจ้าดังจากอเมริกาครองตลาดมาเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยมูลค่าแบรนด์ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในปี 2020 ถึง 26,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8 แสนล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 72% จากปี 2019 (จากการจัดอันดับ The World’s Most Valuable Brands 2020 โดย Forbes) นั่นแสดงให้เห็นว่า Netflix คือธุรกิจที่ทรงอิทธิพลอย่างมากในโลกปัจจุบัน
Reed Hastings Marc Randolph
ไม่ยึดติด พร้อม Disrupt ตัวเอง ก่อนถูก Disrupt
จุดเริ่มต้นของ Netflix นั้น หากจะบอกว่ามาจากความชอบดูหนังก็คงไม่ผิดนัก เพราะ Reed Hastings ผู้ก่อตั้ง รักการดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ จนเป็นลูกค้าขาประจำของ Blockbuster ร้านเช่าวิดีโอแถวบ้าน ก่อนตัดสินใจเปิดธุรกิจให้เช่าวิดีโอออนไลน์ผ่านไปรษณีย์ในชื่อ Netflix เมื่อปี 1997 ร่วมกับ Marc Randolph ที่ล่มหัวจมท้ายในกิจการ Start-up ด้วยกันมา ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในช่วงแรก แต่เมื่อเข้าสู่วิกฤตฟองสบู่ธุรกิจดอตคอม Netflix ก็ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก จนต้องเสนอขายกิจการให้กับ Blockbuster ในช่วงต้นปี 2000 ทว่ากลับถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย
กระทั่งฟองสบู่ธุรกิจดอตคอมแตกในปี 2001 Reed ต้องตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานถึง 1 ใน 3 โดยเลือกคนที่เก่งน้อยที่สุดหรือไม่เหมาะกับการทำงานเป็นทีมออก ซึ่งทำให้เขาหนักใจมาก ทว่าผลลัพธ์กลับกลายเป็นดีเกินคาด ด้วยวัฒนธรรมแห่งอิสรภาพและความรับผิดชอบในองค์กร (Culture of Freedom and Responsibility) ที่ทีมผู้บริหารช่วยกันสร้างขึ้น
ไม่เพียงแค่นั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Reed ยังพยายามปฏิรูปองค์กรด้วยนวัตกรรมที่สอดรับกับสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเริ่มจากเปลี่ยนการให้บริการเช่าวิดีโอผ่านไปรษณีย์ มาเป็นการให้บริการ Video Streaming ผ่านอินเทอร์เน็ต เมื่อได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางก็เปลี่ยนจากการนำเสนอหนังหรือซีรีส์ของค่ายดัง มาสู่การจ้างผลิต
Original Content ของตัวเอง ก่อนจะปรับตัวอีกครั้งด้วยการพัฒนาสตูดิโอเพื่อผลิตซีรีส์และภาพยนตร์ เรียกได้ว่ารู้ทันเกมธุรกิจและ Disrupt ตัวเอง ก่อนถูก Disrupt
จึงไม่น่าแปลกใจที่ Netflix จะเติบโตอย่างฉุดไม่อยู่ จนเป็นบริษัทผู้ให้บริการสตรีมมิงอันดับหนึ่งของโลก ที่มีสมาชิกผู้ใช้งานกว่า 200 ล้านบัญชีจากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก สร้างมูลค่าธุรกิจกว่า 250 พันล้านดอลลาร์ และมีมูลค่าแบรนด์เป็นอันดับที่ 26 ของโลกในทุกวันนี้
ปั้นทีมที่แข็งแกร่ง สร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นใหม่
อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่าวิกฤตครั้งใหญ่ของ Netflix คือการต้องปลดพนักงานออกถึง 1 ใน 3 เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความหวาดหวั่นให้ผู้นำอย่าง Reed ไม่น้อย แต่ผลที่ได้กลับดีเกินคาด เพราะเมื่อเหลือแต่พนักงานระดับหัวกะทิ การทำงานกลับมีประสิทธิภาพและเต็มไปด้วยพลังกว่าที่เคย
หนังสือ No Rules Rules : Netflix and the Culture of Reinvention และ Powerful : Building a Culture of Freedom and Responsibility เล่าถึงการบริหารองค์กรแบบ Netflix ที่เขียนกลยุทธ์การบริหารขึ้นมาใหม่เป็นวัฒนธรรมแห่งอิสรภาพและความรับผิดชอบ หรือ Culture of Freedom & Responsibility (F&R) โดยเริ่มจากให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเก่งเกินมาตรฐาน เป็นยอดฝีมือในแต่ละด้าน ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศให้ที่ทำงานเต็มเปี่ยมด้วยพลัง ความคิดสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจ และนวัตกรรม ทั้งยังสามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ
จากนั้นพยายามรักษาคนเก่งเหล่านั้นไว้ด้วยการสร้างวัฒนธรรมแห่งอิสระและความรับผิดชอบ เปิดโอกาสให้พนักงานมีอิสรภาพในด้านต่าง ๆ ทั้งวิจารณ์และแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่แบ่งแยกตำแหน่งหรือสถานะ ทำให้พนักงานกล้าที่จะวิจารณ์และกล้ารับคำวิจารณ์อย่างจริงใจ จากนั้นก็ให้อิสระในเรื่องของเวลา คือไม่จำกัดวันลาหรือเวลาเข้าออกงาน เพราะมุ่งที่ผลลัพธ์มากกว่าวิธีการและความทุ่มเท อีกด้านคืออิสระในเรื่องของการใช้จ่าย โดยยกเลิกกฎเกณฑ์และกระบวนการอนุมัติค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้พนักงานสามารถตัดสินใจเรื่องค่าใช้จ่ายได้เองทันที ภายใต้หลักการง่าย ๆ คือ เป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทเป็นหลัก โดยมีการวางระบบตรวจสอบที่เข้มข้น เพื่อให้ทุกคนตระหนักว่า อิสระนั้นต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ
มากไปกว่านั้น Netflix ยังให้เงินเดือนสูงกว่ามาตรฐาน เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดของบริษัทให้พนักงานทุกคนรู้ เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ถูกต้อง ทั้งยังยกเลิกข้อบังคับต่าง ๆ รวมถึงการอนุมัติตามสายบังคับบัญชา ให้พนักงานสามารถตัดสินใจได้เองทันที แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่จะตามมา และหากทำผิดเมื่อไร จะถูกลงโทษด้วยมาตรการสูงสุดทันที
ซึ่งการให้อิสระเช่นนี้ส่งผลให้พนักงานมีความรับผิดชอบและความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของในงานที่ทำอยู่ จนสามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เรียกได้ว่าเป็นองค์กรที่ Super Productive แบบสุด ๆ
ก้าวต่อไปด้วยมาตรฐานใหม่ ธุรกิจบันเทิงที่มุ่งสู่ความยั่งยืน
เป็นธรรมดาของธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องใส่ใจถึงผลกระทบต่าง ๆ อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ทว่าน้อยครั้งนักที่จะเห็นธุรกิจบันเทิงเอ่ยถึงเรื่องนี้ เมื่อ Netflix ประกาศตัวว่า จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการทำงานให้เหลือศูนย์ภายในสิ้นปี 2022 จึงเป็นที่จับตามองและกล่าวถึงในวงกว้าง
ในฐานะผู้นำบริการสตรีมมิงระดับโลก Netflix เผยว่ากระบวนการทำงานเพื่อส่งต่อความบันเทิงสู่คนทั่วโลกนั้น มีต้นทุนทางสังคมของคาร์บอน (The Social Cost of Carbon : SCC) ไม่น้อย โดยในปี 2020 ได้ปล่อยคาร์บอนประมาณ 1,100,000 เมตริกตัน จากกระบวนการผลิตและส่งต่อสื่อบันเทิง โดย 50% มาจากการผลิตงานภาพยนตร์และซีรีส์ภายใต้แบรนด์ Netflix อีก 45% มาจากการดำเนินงานขององค์กร และ 5% มาจากการใช้บริการระบบคลาวด์ (Cloud) และเครือข่ายนำส่งเนื้อหาเพื่อสตรีมบริการ ดังนั้นเป้าหมายในระยะสั้นนี้ Netflix จึงมุ่งมั่นจะก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน โดยได้ประกาศแผนการลดปริมาณมลพิษให้เหลือศูนย์ + การอนุรักษ์ธรรมชาติ (Net Zero + Nature) ออกมาเมื่อต้นปี 2021 นอกจากนี้ยังพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจด้านความยั่งยืนผ่านภาพยนตร์และซีรีส์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ด้วย กล่าวได้ว่าเป็นการจุดประกายความตระหนักรู้และขับเคลื่อนให้ธุรกิจบันเทิงต้องปรับเปลี่ยนตัวเองสู่มาตรฐานใหม่ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อันจะนำไปสู่การผลักดันให้วงการนี้มีบทบาทสำคัญต่อการปกป้องโลกของเราในวันข้างหน้า
คาดการณ์กันว่าทั้งวัฒนธรรม Freedom & Responsibility และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของ Netflix จะกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรของโลกใหม่ในไม่ช้า ซึ่ง MEA เองก็ได้พยายามนำแนวทางนี้มาเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวหน้า โดยพิจารณาเลือกนำแง่มุมที่สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานและเหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจมาประยุกต์ใช้ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่ง Innovation และ Super Productive ในอนาคต
การจุดประกายความตระหนักรู้และขับเคลื่อนให้ธุรกิจบันเทิงต้องปรับเปลี่ยนตัวเองสู่มาตรฐานใหม่ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อันจะนำไปสู่การผลักดันให้วงการนี้มีบทบาทสำคัญต่อการปกป้องโลกของเราในวันข้างหน้า
Comments