นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA คนที่ 18 ได้เผยวิสัยทัศน์ ภารกิจ ค่านิยม และแนวทางในการขับเคลื่อน MEA ให้ก้าวเดินไปข้างหน้า มุ่งสู่เป้าหมายการเป็นพลังงานเพื่อชีวิตเมืองมหานคร ในงานวันสื่อสารวิสัยทัศน์ MEA ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้แนวคิด Together for Smart Living รวมพลังเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร
เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยคนเพียงคนเดียว ฉะนั้นผู้นำที่จะนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ จำเป็นต้องมีทีมสนับสนุนที่แข็งแกร่ง ในการเปิดงานวันสื่อสารวิสัยทัศน์ MEA ประจำปี 2565 ผู้ว่าการได้เปิดตัวทีมบริหารชุดใหม่ที่จะร่วมผลักดันความสำเร็จของแต่ละสายงานไปพร้อมกัน ประกอบด้วยรองผู้ว่าการทั้ง 8 สายงาน ได้แก่ นายธานี ปาริชาติอินทราณี รองผู้ว่าการเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบสื่อสาร นายพงศ์ศักดิ์ ธรรมบวร รองผู้ว่าการบริหารองค์กร นายวีรวัจน์ บัวทอง รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์กรและความยั่งยืน นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการธุรกิจ นายสมชาย หอมกลิ่นแก้ว รองผู้ว่าการวางแผนและนวัตกรรมระบบไฟฟ้า นางเทียมจันทร์ ศรีคำ รองผู้ว่าการการเงิน นายรงค์เพชร เขาเรียง รองผู้ว่าการปฏิบัติการระบบส่ง และนายพิพัฒน์ ชลอำไพ รองผู้ว่าการบริการระบบจำหน่าย ก่อนเผยถึงวิสัยทัศน์อันจะเป็นตัวกำหนดเป้าหมายของ MEA ในปีนี้และอนาคตข้างหน้า
Mega Trends กำหนดทิศทาง MEA
พลังงานเพื่อชีวิตเมืองมหานคร (Energy for city life, Energize smart living) คือ วิสัยทัศน์ที่ MEA คาดหวังและมุ่งมั่นจะก้าวไปให้ถึง ซึ่งการที่จะเป็นพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานครได้นั้น ผู้ว่าการมองว่าองค์กรต้องปรับตัวตามเทคโนโลยีและกระแสโลก หรือ Mega Trends ต่าง ๆ โดยปัจจุบันมีเทรนด์ใหญ่ด้านพลังงานที่ต้องจับตา คือ Decarbonization การใส่ใจสิ่งแวดล้อม Decentralized การเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจ Digitalization เรื่องของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรม และ Deregulation การปรับเปลี่ยนกฎระเบียบในการทำงาน
ทั้งนี้ Mega Trends ที่กล่าวมามีกุญแจสำคัญ คือ นโยบาย COP26 ของภาครัฐ ที่ส่งเสริมให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ โดยมีเป้าหมายที่จะก้าวสู่ Carbon Neutrality ภายในปี 2593 และมุ่งสู่การ Net Zero GHG Emission ในปี 2608 ซึ่ง MEA ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านพลังงานจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำภารกิจนี้เข้ามาเป็นหนึ่งในเป้าหมายขององค์กร
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ที่กำลังได้รับความสนใจ โดยคาดว่าในปี 2566 ประเทศไทยจะมีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าถึงหลักล้านคัน ซึ่งจะทำให้ MEA มีโอกาสในธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมไฟฟ้า รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ในบ้านเรา โดยวางแผนขยายสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มอีกกว่า 500 แห่ง
สิ่งสำคัญคือ การมองภาพอนาคตเมืองมหานคร ทั้งกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ที่อีก 30 ปีข้างหน้าจะก้าวไปสู่การเป็นเมืองแห่งเทคโนโลยี มีพื้นที่สุขภาพนิยม เมืองที่พร้อมรับทุกสภาวะ ขุมพลังของคนหลาย Generation และเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักในระยะยาว โดย MEA สามารถส่งเสริมและสนับสนุนด้านพลังงานให้สอดคล้องกับอนาคตของเมืองได้ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรม ขับเคลื่อนระบบพลังงานอัจฉริยะ เพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร
ทั้งนี้ผู้ว่าการมองว่า “ไม่ว่าวิสัยทัศน์จะ ว้าว ! ขนาดไหน ภารกิจจะชัดเจนแค่ไหน ถ้าไม่มีค่านิยมหรือวัฒนธรรมองค์กรเป็นตัวกำกับ การดำเนินงานย่อมไม่มีทางสำเร็จ ฉะนั้นผมจึงให้ความสำคัญว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้ CHANGE เข้าไปอยู่ในสายเลือดของชาว MEA” ฉะนั้นสิ่งที่ผู้ว่าการอยากให้ทุกคนใส่ใจ คือ การนำ Customer Focus, Harmonization, Agility, New Ideas, Governance และ Efficiency เข้าไปอยู่ในกระบวนการทำงานทุกขั้นตอนจนซึมซับเป็นปัจจัยหลักในการทำงาน เพื่อช่วยให้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ขององค์กรได้ง่ายขึ้น
MEA Roadmaps สู่ พลังงานเพื่อชีวิตเมืองมหานคร
วิสัยทัศน์ของ MEA แบ่งออกเป็นสองส่วนสำคัญคือ Energy for City Life ซึ่งมีเป้าหมายว่าจะให้บริการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ มีเสถียรภาพ ปลอดภัย และเพียงพอต่อความต้องการ แม้ปัจจุบัน MEA จะมีลูกค้าผู้ใช้ไฟฟ้ากว่า 4 ล้านครัวเรือน แต่แท้จริงแล้วผู้คนในเมืองมหานครมีมากกว่า 10 ล้านคน นั่นคือจำนวนประชาชนในภาพรวมที่ MEA ต้องดูแล และอีกส่วนคือ Smart Living ที่จะขับเคลื่อนด้วย MEA Service from Anywhere เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงบริการได้ทุกที่ ทุกทาง ทุกเวลา ในขณะที่พนักงานสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ภายใต้เป้าหมายเดียวกันคือ ความสะดวกสบายและตอบโจทย์ลูกค้า
ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ผู้ว่าการ ได้กล่าวถึง Roadmaps ในการพัฒนาองค์กรโดยแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรก ตั้งแต่ปี 2565-2568 จะให้ความสำคัญกับ Smart Distribution, Fully Digital Service, Solar & EV Business และ Smart People ระยะที่สองจะโฟกัสที่เทคโนโลยีดิจิทัลในปี 2570 และระยะที่สามในปี 2580 จะพัฒนาไปสู่การเป็น Virtual Utility และ Smart Metro Grid เต็มพื้นที่ รวมถึงเป็นองค์กร Carbon Neutrality และเติบโตไปสู่ MEA Holding Company ต่อไป
จากนั้น ผู้ว่าการเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากหน่วยงาน ได้แลกเปลี่ยนมุมมองและทิศทางการพัฒนาระบบจำหน่ายไฟฟ้า
ในส่วนของ Smart Distribution ตัวแทนพนักงานจากการไฟฟ้านครหลวง เขตบางใหญ่ (ฟขญ.) ซึ่งมีพื้นที่ดูแลทั้งบนบกและในแม่น้ำ ทำให้ยากต่อการให้บริการและบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ หากสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ จะช่วยให้บริการได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น สำหรับการไฟฟ้านครหลวง เขตวัดเลียบ (ฟขล.) ที่ดูแลพื้นที่เขตพระนคร ได้มีการปรับเปลี่ยนจากระบบสายสายอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงตามนโยบายของ MEA เช่นเดียวกับฝ่ายบริหารโครงการ (ฝบค.) ที่ต้องบริหารโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน โดยมีเป้าหมายจะเปลี่ยนเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินให้ได้ 215.6 กิโลเมตร ภายในปี 2568
ด้านการมุ่งสู่ Fully Digital Service ตัวแทนพนักงานจากการไฟฟ้านครหลวง เขตยานนาวา (ฟขว.) มีภารกิจในการดูแลระบบจำหน่ายให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีการตั้งเป้าหมาย Clean Feeder ในอีกประมาณ 5 ปี โดยจะมุ่งเน้นในพื้นที่ลูกค้าที่เกิดไฟฟ้าดับบ่อยก่อน การไฟฟ้านครหลวง เขตสมุทรปราการ (ฟขป.) มีการตรวจสายป้อนในนิคมอุตสาหกรรมบางปู เพื่อให้การบริการระบบจำหน่ายไฟฟ้าแก่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว ทันกาลอยู่เสมอ และฝ่ายระบบโครงสร้างพื้นฐาน ดำเนินงานตามเป้าหมายขององค์กรที่จะมีการปรับการทำงานจากระบบเดิมให้เป็นดิจิทัลทั้งในส่วนของกระบวนการทำงานภายในและการให้บริการลูกค้า โดยมีเป้าหมายจะเป็น Fully Digital Service ในปี 2568 และเป็น Digital Organization ในปี 2570
ในด้านธุรกิจ Solar ฝ่ายธุรกิจบริการและคุณภาพไฟฟ้า (ฝธค.) มีการให้บริการออกแบบและติดตั้งระบบ Solar Rooftop ตลอดจนงานที่เกี่ยวกับ EV และพลังงานทดแทนทั้งหมด โดยมีลูกค้าหน่วยงานราชการเป็นหลัก ภายใต้เป้าหมายสร้างรายได้ 1,000 ล้านบาทในปี 2565 นอกจากนี้ บริษัท MEA Smart Energy Solutions จำกัด หรือ MEAei (เอ็มอีเออีไอ) บริษัทลูกแห่งแรกของ MEA มีการกำหนดเป้ารายได้ไว้ที่ 23 ล้านบาท จากการพัฒนาโครงการโซลาร์ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
ในด้านธุรกิจ EV ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมระบบไฟฟ้า (ฝวจ.) อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องกับ EV อาทิ ระบบบริหารจัดการพลังงานภายในสถานี ระบบบริหารจัดการพลังงานภายในบ้าน หรือ MEA ETA Home ตลอดจนระบบสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง EV โอเปอเรเตอร์ โดยในปี 2565 ตั้งเป้าว่าจะต้องมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบบริหารจัดการของ MEA ไม่ต่ำกว่า 200 สถานี นอกจากนี้ยังมุ่งพัฒนาต่อยอดระบบโครงข่ายเครื่องอัดประจุไฟฟ้าของ MEA ให้เป็น Open Changing Network เพื่อให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาร่วมธุรกิจได้
ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือ Smart People & Happiness หัวใจสำคัญขององค์กรที่ ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (ฝทม.) ได้ให้ข้อมูลว่า ได้มีการจัดตั้งทีมเพื่อวางแนวทางการสร้าง Smart People โดยช่วงแรกในปี 2565 จะเน้นการสื่อสารเพื่อให้พนักงานเข้าใจการเป็น Smart People ว่าต้องมี Sustainability Mindset จิตสำนึกยั่งยืน Multi-skill มีทักษะรอบด้าน Analytic Thinking ชำนาญการวิเคราะห์ Resilience ยืดหยุ่น ปรับตัวเก่ง และ Technology Literation รู้จักใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ พร้อมกับเสริมสร้างความเป็นผู้นำที่จะเป็นต้นแบบของ Smart People & Happiness ต่อไป
สุดท้าย ด้านสิ่งแวดล้อม ฝ่ายกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม (ฝสส.) เปิดเผยว่า MEA สามารถตอบโจทย์การเป็น Carbon Neutralization ผ่าน 4 โครงการหลัก คือ การดำเนินงานที่ลดความสูญเสียพลังงานในระบบ การบริหารจัดการยานพาหนะเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิง การรณรงค์สื่อสารและรวบรวมข้อมูลเพื่อสร้างความมั่นใจทั้งภายในภายนอก การเผยแพร่การจัดทำรายงานความยั่งยืน รวมถึงการบริหารจัดการการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก ซึ่งในปี 2565-2566 ตั้งเป้าจะลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าอย่างน้อย 2% หรือประมาณ 760,000 หน่วยต่อปี
ที่กล่าวมาทั้งหมด คือ ภาพรวมของวิสัยทัศน์ และ Roadmap ที่จะนำพา MEA ไปสู่การเป็น พลังงานเพื่อชีวิตเมืองมหานคร (Energy for city life, Energize smart living) ได้อย่างแท้จริง
Governor Way ทิศทางการบริหารงานของผู้ว่าการคนที่ 18
สุดท้าย นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA ปิดท้ายงานสื่อสารวิสัยทัศน์ในครั้งว่า “ทิศทางในการดำเนินงานของผู้ว่าการ คือ การสร้างการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน มีการส่งมอบนวัตกรรมและบริการที่เป็นเลิศให้กับลูกค้า ขยายความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตร เพราะทุกวันนี้เราเก่งคนเดียวไม่ได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เพื่อมาบูรณาการสร้างความสำเร็จในแต่ละโครงการ ที่เรากำลังมุ่งสู่การทำธุรกิจในโอกาสต่อไป ภายใต้ความภูมิใจของพวกเราชาว MEA ทุกคน”
พร้อมอธิบายถึงสไตล์การทำงานของผู้ว่าการว่า มีความเรียบง่าย ชัดเจน เป็นระบบ และจบที่ผลลัพธ์ ทั้งยังเชื่อมั่นว่าเมื่อทีมมีเป้าหมายเดียวกัน เห็นพ้องต้องกันในแผนงาน และลงมือทำอย่างตั้งใจ โดยแบ่งงานให้สอดคล้องกับความสามารถ ความสำเร็จย่อมรออยู่ข้างหน้า เพียงแต่ต้องทำให้เร็ว ปรับตัวให้ทัน เพราะในโลกธุรกิจยุคนี้ไม่เพียงคู่แข่งที่ต้องต่อสู้ห้ำหั่น แต่ยังต้องท้าทายกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ฉะนั้น MEA จะหยุดพัฒนาไม่ได้ ต้องทำและเริ่มทันทีจึงจะเป็นผู้นำได้
Comentários